In Focus: นับถอยหลัง 2 เดือน สู่วันเลือกตั้งสหรัฐ โพลเผย ‘ไบเดน’ ตัวเต็งแต่ ‘ทรัมป์’ มีลุ้นหักปากกาเซียนอีกรอบ

ภาพ: รอยเตอร์

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 2 เดือน ชาวอเมริกันจะได้เข้าคูหาเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในวันที่ 3 พ.ย.นี้ เพื่อชี้ชะตาว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำประเทศอีกสมัยหรือไม่ หลังจากที่เขาได้คว้าชัยชนะอย่างเหนือความคาดหมายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน มีคู่แข่งคนสำคัญอย่างนายโจ ไบเดน ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ซึ่งอยู่ในแวดวงการเมืองมานานแล้ว และยังเคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของนายบารัค โอบามาด้วย

ทั้งสองมีบุคลิกแตกต่างกันแบบสุดขั้ว โดยทรัมป์เป็นคนพูดจาโผงผาง ก้าวร้าว พร้อมที่จะสร้างศัตรูกับคนรอบข้าง แตกต่างจากไบเดนที่มีบุคลิกสุภาพ พูดจาเรียบร้อย ยิ้มแย้ม และมีความเป็นมิตรกับผู้อื่น

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ชื่นชอบทรัมป์กลับมองว่า ทรัมป์มีเสน่ห์ในการกล่าวสุนทรพจน์ และกล่าวปราศรัยในการรณรงค์หาเสียง โดยสามารถพูดได้อย่างเร้าใจ มีสีสัน แตกต่างจากไบเดนที่พูดจาได้อย่างจืดชืด ไม่น่าสนใจ

ในวันที่ 3 พ.ย. นอกจากชาวสหรัฐที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีตามที่คนส่วนใหญ่ทราบกันแล้ว พวกเขายังจะทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาจำนวน 435 คน และเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรือจำนวน 33 คน จากทั้งหมด 100 คน โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นทุก 4 ปี และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะมีขึ้นทุก 2 ปี

ขณะเดียวกัน ชาวสหรัฐยังออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหลายพันคนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้ว่าการรัฐ และผู้พิพากษา ส่งผลให้การเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. ถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญต่อทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน เนื่องจากจะมีผลต่อผู้สมัครของพรรคในการเข้าไปนั่งเก้าอี้ในทำเนียบขาว และการครองอำนาจในสภาคองเกรส

ขณะนี้แม้โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดไม่หยุดในสหรัฐ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งร้อนแรงน้อยลง โดยเมื่อวันเลือกตั้งคืบคลานเข้ามาเรื่อย ๆ สำนักโพลต่างก็ออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าจะโหวตเลือกใครเป็นผู้นำประเทศ

ส่องผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด “ไบเดน” คะแนนลอยลำทุกโพล

ภาพ: รอยเตอร์

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้รวบรวมผลสำรวจความคิดเห็นจากสำนักโพลและสำนักข่าวรายใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงของสำนักข่าวซีบีเอส รอยเตอร์ เอบีซี วอชิงตันโพสต์ เอ็นบีซี วอลล์สตรีทเจอร์นัล และฟ็อกซ์นิวส์ โดยผลสำรวจแทบทุกสำนักชี้ว่า ไบเดนมีคะแนนนำเหนือทรัมป์ แม้แต่โพลของสำนักข่าวที่ดูเหมือนจะเข้าข้างทรัมป์มากที่สุดอย่างฟ็อกซ์นิวส์ ก็เผยให้เห็นว่าไบเดนมีคะแนนมากกว่าเช่นกัน ส่วนโพลที่เหลือนั้น % ทิ้งห่างไม่มากพอที่จะชี้ชัดว่าใครเป็นผู้นำ

ผลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2,433 ราย ของสำนักข่าวซีบีเอสซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกับบริษัทยูโกฟ (YOUGOV) เมื่อวันที่ 2-4 ก.ย. ชี้ว่า ไบเดนได้รับเสียงสนับสนุน 52% ทิ้งห่างทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 42%

ด้านผลสำรวจจากอิปซอสส์ (Ipsos) บริษัทด้านการสำรวจและวิจัยตลาดระดับโลก ซึ่งร่วมกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในการสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,089 รายเมื่อวันที่ 28 ส.ค. – 1 ก.ย. เผยว่า ไบเดนได้รับเสียงสนับสนุน 47% เหนือทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 40%

ส่วนผลสำรวจจากสำนักข่าวเอบีซีซึ่งร่วมมือกับวอชิงตันโพสต์ในการสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 868 รายเมื่อช่วงกลางเดือนส.ค. ระบุว่า ไบเดนได้รับเสียงสนับสนุน 53% เหนือทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 41%

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 900 รายจากสำนักข่าวเอ็นบีซีซึ่งจัดทำร่วมกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันพบว่า ไบเดนได้รับเสียงสนับสนุน 50% มากกว่าทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 41%

ท้ายที่สุด ผลสำรวจจากสำนักข่าวลูกรักของปธน.ทรัมป์อย่างฟ็อกซ์นิวส์ ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,000 ราย ก็เผยให้เห็นว่า ไบเดนได้รับเสียงสนับสนุน 49% สูงกว่าทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 42%

ลุ้นผลเลือกตั้งจริง “ทรัมป์” อาจพลิกล็อก หักปากกาเซียนอีกรอบ

ภาพ: รอยเตอร์

ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนแก่เราว่าโพลต่าง ๆ ไม่ได้รับประกันว่าผลจะออกมาตามที่มีการสำรวจไว้ ซึ่งจะเห็นได้จากการทำโพลสมัยเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่ทุกสำนักระบุว่า ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งทรัมป์สมัยนั้น จะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และจะเป็นสตรีคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่เธอก็ต้องน้ำตาตกเมื่อมีการประกาศว่าทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ ทั้งๆที่ทรัมป์ตกเป็นรองมาโดยตลอดในการสำรวจความนิยมของชาวอเมริกัน

แม้ผลสำรวจขณะนี้บ่งชี้ว่า ทรัมป์จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.นี้ แต่ความจริงคือ เรายังคงมีโอกาสที่จะได้ประธานาธิบดีสหรัฐที่ชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อไปอีก 4 ปี เหมือนที่เขาเคยสร้างปาฏิหาริย์ไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในทางทฤษฎีแล้ว ประชาชนชาวอเมริกันไม่ได้ลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่าน “คณะผู้เลือกตั้ง” (electoral college) เพื่อให้ไปทำหน้าที่ออกเสียงเลือกประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง

โดยคะแนนเลือกตั้งจะมี 2 แบบ เรียกว่า popular vote กับ electoral vote การที่ประชาชนออกจากบ้านไปเลือกคณะผู้เลือกตั้ง ถือเป็น popular vote จากนั้น คณะผู้เลือกตั้งไปเลือกประธานาธิบดีอีกทอดหนึ่งเรียกว่า electoral vote

ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียง electoral vote เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง ของจำนวน electoral vote ทั้งหมด 538 เสียง ในระบบการเลือกตั้งแบบคณะผู้เลือกตั้งนั้น แต่จะรัฐจะมีจำนวน electoral vote ไม่เท่ากันซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร สิ่งนี้หมายความว่า รัฐที่ใหญ่กว่าจะมี electoral vote มากกว่ารัฐเล็ก ๆ

ส่องโพลรัฐสนามรบชี้ชะตาผลเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ผู้ชิงตำแหน่งมักจะได้รับคะแนนเสียงจากรัฐที่พรรคของตนมีฐานเสียงเหนียวแน่นอยู่แล้ว โดยเมื่อประเมินจากผลการเลือกตั้งปีก่อน ๆ แล้ว พรรครีพับลิกันมักคว้าชัยชนะในรัฐแถบเทือกเขาและเขตที่ราบใหญ่ หรือเกรตเพลนส์ (Great Plains) เช่น รัฐไอดาโฮ ไวโอมิง มอนทานา ไปจนถึงรัฐทางตอนใต้ เช่น อลาบามา จอร์เจีย อาร์คันซอ ขณะที่พรรคเดโมแครตมักคว้าชัยชนะในรัฐแถบมิดแอตแลนติก เช่น นิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ แมรีแลนด์ ไปจนถึงแถบเวสต์โคสต์ เช่น แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน และข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงรัฐฮาวาย

สถิติดังกล่าวหมายความว่า มีหลายรัฐที่แทบจะรู้ผลกันล่วงหน้าอยู่แล้วว่าผู้สมัครจากพรรคใดจะชนะ จึงเหลือเพียงไม่กี่รัฐที่ยังคงต้องลุ้นอย่างใกล้ชิด โดยเป็นรัฐที่ทรัมป์และไบเดนมีคะแนนสูสีและต่างก็มีโอกาสคว้าชัยชนะทั้งคู่ รัฐเหล่านี้เรียกว่า “Battleground State” หรือ “Swing State” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “รัฐสนามรบ”

รัฐสนามรบเหล่านี้ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ทางตะวันออกและทางตอนใต้ของประเทศ โดยข้อมูลจาก realclearpolitics.com เผยว่า รัฐสนามรบที่มีจำนวน electoral vote ให้ช่วงชิงมากที่สุด คือ รัฐเท็กซัส (38) รัฐฟลอริดา (29) และรัฐเพนซิลเวเนีย (20)

เมื่อดูผลสำรวจความคิดเห็นในรัฐเหล่านั้นแล้ว ผลสำรวจเดือนก.ย. จากสำนักข่าวดัลลัสมอร์นิงนิวส์ ซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตไทเลอร์ เผยว่า ทรัมป์ได้รับคะแนนสนับสนุน 48% ขณะที่ไบเดนได้รับเสียงสนับสนุนไป 46% ซึ่งแม้ดูเหมือนจะนำไม่มาก แต่ก็เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญเพราะทรัมป์พลิกกลับมานำไบเดน ซึ่งในผลการสำรวจเมื่อเดือนก.ค.นั้น ไบเดนมีคะแนนนำอยู่ 5%

ส่วนที่รัฐฟลอริดานั้นดูสูสียิ่งกว่า เพราะผลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 766 ราย เมื่อวันที่ 31 ส.ค. – 4 ก.ย. ของสำนักข่าวเอ็นบีซีและมาริสต์โพล พบว่า ทรัมป์และไบเดน ได้รับคะแนนสนับสนุน 48% เท่ากันทั้งคู่ โดยทรัมป์กลับมาทำคะแนนตีตื้นอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ไบเดนมีคะแนนนำในโพลมาตลอด

สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นที่รัฐเพนซิลเวเนียนั้น โพลจากมหาวิทยาลัยมอนมัธระบุว่า ไบเดนมีคะแนนอยู่ที่ 49% นำเหนือทรัมป์ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 45% อย่างไรก็ดี ไบเดนมีคะแนนนำลดลงจากผลการสำรวจเมื่อเดือนก.ค. ซึ่งขณะนั้นไบเดนมีคะแนนอยู่ที่ 53% และทรัมป์มีคะแนนอยู่ที่ 40% ซึ่งหมายความว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้า ชัยชนะของทรัมป์ในรัฐเพนซิลเวเนียยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ คะแนนนำที่ลดลงของไบเดนทำให้พรรคเดโมแครตกังวลว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2559 เมื่อฮิลลารี คลินตัน ชนะคะแนน popular vote แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับทรัมป์ที่ชนะคะแนน electoral vote

ในปีนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความแน่นอน อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คะแนนเสียงจากประชาชนจึงพลิกกลับไปกลับมาได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ยังเหลือเวลาอีกเกือบ 2 เดือนก่อนจะถึงวันเลือกตั้งจริง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top