ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. อยู่ที่ 51.0 ฟื้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค.63 อยู่ที่ 51.0 จาก 50.1 ในเดือน ก.ค.63 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 43.6 จาก 42.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 49.1 จาก 48.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 60.4 จาก 59.3

สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%, รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 5 หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น, รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ, ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวลดลง

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 กระทบการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต, ความกังวลสถานการณ์การเมืองเรื่องการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาพัฒน์ ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -7.3% ถึง -7.8% จากเดิม -5% ถึง -6%, รัฐบาลขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการในเดือนนี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยปรับตัวดีขึ้นจาก 50.1 ในเดือนก.ค. มาเป็น 51.0 ในเดือนส.ค.

แต่การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤติโควิดทั่วโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ จากมาตรการผ่อนคลายให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้หลายสถานประกอบการมากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง แต่การที่ค่าดัชนีส่วนใหญ่ยังทรงตัวต่ำ ดังนั้นจึงคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลายตัวลง และมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดและฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค

นายธนวรรธน์ เชื่อว่า หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิดในรอบ 2 อย่างรุนแรง ก็มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 โดยจากนี้ไปตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ น่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ และแม้จะยังมีประเด็นการชุมนุมทางการเมืองอยู่เป็นระยะ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะสามารถหาทางออกได้ผ่านกลไกของรัฐสภา เช่น กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองจะไม่มีความรุนแรง

“ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มเป็นขาขึ้น ยังไม่เห็นเหตุที่ดัชนีจะปรับตัวลดลง นอกจากจะมีโควิดระบาดรอบสอง ล็อกดาวน์รอบสอง และการชุมนุมทางการเมือง แต่เราก็ยังไม่เห็นถึงจุดนั้น เพราะการชุมนุมเริ่มเข้าสู่การหาทางออกในสภาได้ รวมถึงหากปัจจัยราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง และสถานการณ์โควิดโลกมีการระบาดหนักที่จะทำให้หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์รอบ 2 ซึ่งทั้งหมด ยังไม่เห็นน้ำหนักที่จะเกิดขึ้น”

นายธนวรรธน์กล่าว

พร้อมประเมินว่า มาตรการที่ภาครัฐเตรียมจะนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีช่วยเหลือเรื่องการจ้างงาน และมาตรการ “คนละครึ่ง” ที่กระตุ้นการบริโภคด้วยการให้เงิน 3,000 บาทแก่ประชาชน 15 ล้านคน โดยใช้งบราว 45,000 ล้านบาท ซึ่งแม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่หากประเมินเบื้องต้น มาตรการดังกล่าวนี้จะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นได้ถึง 90,000 ล้านบาท และหมุนเวียนในระบบได้ 2 รอบ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้ 1-1.5%

“มาตรการที่รัฐพยายามจะออกมาในช่วงไตรมาส 4 นี้ ทั้งเรื่องการจ้างงาน การกระตุ้นการใช้จ่าย โดยประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่ง รัฐบาลช่วยครึ่งหนึ่ง จากเม็ดเงิน 45,000 ล้านบาท ก็จะรวมเป็น 90,000 ล้านบาท เป็นวงเงินระยะสั้นๆ ช่วยค่าครองชีพ แบ่งเบาภาระประชาชนได้ เงินจะหมุนเวียนไปในผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงล่าง อย่างน้อยสองรอบ รวมเป็นเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ให้เพิ่มขึ้นได้ 1-1.5%” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย เห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสจะหดตัวน้อยลงที่ราว -7.5% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ -8 ถึง -10% ซึ่งต้องรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังจะออกมาว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะกลับมาไม่ติดลบหรืออยู่ในระดับ 0% ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 64 ส่วนไตรมาส 2/64 เศรษฐกิจน่าจะบวกได้เล็กน้อยจากฐานที่ต่ำในปีนี้

ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 2/64 ซึ่งระหว่างนี้ต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐว่าจะเป็นใคร เพราะจะมีผลต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าโลกที่เชื่อว่าจะยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ หรือนายโจ ไบเดน ที่จะได้เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ก็ตาม เพียงแต่ถ้าเป็นนายไบเดน ก็จะเน้นการเจรจามากขึ้นเพื่อให้มีการเปิดตลาด ซึ่งจะไม่หนักหน่วงหรือมีการตอบโต้จีนอย่างเข้มข้นเหมือนนโยบายของนายทรัมป์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top