น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจรให้แก่ภาคเอกชนและประชาชน ส่งผลต่อการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก
โดยมีแนวทางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอให้หน่วยงานดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้ คือ
- แนวทางแรก ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการขออนุญาต สถานที่ยื่นคำขอ การต่ออายุใบอนุญาต รวมถึง การขอรับใบแทนในอนุญาตกรณีชำรุด เสียหายหรือสูญหาย โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากช่องทางปกติ และให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
- แนวทางที่สอง ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการชำระค่าธรรมเนียมในการขออนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้หน่วยงานต้องจัดทำใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์(e-Receipt)ด้วย
- แนวทางที่สาม ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับการลงลายมือในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- แนวทางที่สี่ ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์ในการแจ้งผลการพิจารณาและการรับใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์(e-Certificate) โดยให้หน่วยงานแจ้งผลทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
- แนวทางที่ห้า เรื่องการระบุให้ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการ ส่วนนี้ให้แก้ไขโดยใช้ข้อความต่อไปนี้แทนข้อความเดิมในกฎหมาย “ให้ผู้รับอนุญาตเตรียมใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถแสดงถึงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม” เทียบเคียงได้กับการแสดงใบอนุญาตขับขี่ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือสำเนาภาพถ่าย
นอกจากนี้ ยังกำหนดแผนแก้ไขกฎหมายไว้ด้วย ดังนี้ ในส่วนของประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะแก้ไขได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. ให้หน่วยงานดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบ ขณะที่กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับที่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนนั้น ให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
ส่วนกฎหมายที่เป็น พ.ร.บ.ให้สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอแก้ไขต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเชิญหน่วยงานมาชี้แจงและปรับแก้กฎหมายเพื่อเสนอต่อ ครม. และหลังจากแก้ พ.ร.บ.สำเร็จ ก็ให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องกันภายใน 3 เดือน นับแต่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ ก.พ.ร.ได้เสนอว่า ในจำนวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 84 ฉบับ มีอยู่จำนวน 23 ฉบับของหน่วยงานนำร่องที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หากแก้ไขจะสามารถให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
พร้อมกันนี้ ครม.ได้มีมติให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 63)
Tags: e-Service, ก.พ.ร., กฎหมาย, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงแรงงาน, คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย, คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, ครม., บีโอไอ, ระบบราชการ, ระบบอิเล็กทรอนิกส์, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, ไตรศุลี ไตรสรณกุล