สภาผู้ส่งออก เรียกร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาโลจิสติกส์ เตรียมเสนอ กกร.ผลักดันแนวทางลดต้นทุน

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ปัญหาเรื่องต้นทุนด้านโลจิสติกส์เป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนต่างประเทศนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะลงทุนในประเทศใด ซึ่งต้นทุนด้านนี้ของไทยในปัจจุบันสูงกว่าประเทศอื่น โดยในปี 57 มีต้นทุนอยู่ที่ 14% และปัจจุบันอยู่ที่ 13.6% สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานไม่สอดคล้องกับนโยบายหลัก

“ปัญหาที่ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์สูงขึ้นมีมากจนไม่สามารถพูดจบได้ในการแถลงข่าว อย่างเรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรคมีมากถึง 26 ฉบับ”

นายคงฤทธิ์ กล่าว

โดย สรท.มีข้อเรียกร้องให้รัฐเร่งแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าที่สำคัญ ได้แก่

  1. แก้ไขความสูงของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสิ่งของขนาด High Cube (HC) และรถบรรทุกรถยนต์ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 18 เป็น 4.6 เมตร
  2. เร่งรัดการทำสัญญาสัมปทานสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดีลาดกระบัง) ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ไอซีดีลาดกระบัง และ SRTO ให้การบริการรับส่งสินค้าในรูปแบบตู้สินค้า ในการขนส่งอย่างมีความต่อเนื่อง และปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ บำรุงรักษาพื้นที่ภายในโครงการ ลงทุนจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ แรงงาน และสาธารณูปโภค ให้มีความพร้อมสำหรับรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น
  3. เลื่อนการบังคับใช้ประกาศการท่าเรือฯ เรื่องกำหนดอัตราค่าภาระของเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 และ ประกาศการท่าเรือฯ เรื่องให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการ บรรทุกตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2563 และกำหนดนโยบายลดต้นทุนการขนส่งชายฝั่งให้สามารถแข่งขันกับการขนส่งรูปแบบอื่น
  4. พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่า Cargo Dues สำหรับเรือ Barge ที่ขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขาเข้า ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านร่องน้ำสันดอนเจ้าพระยาเข้าไปขนถ่าย หรือส่งมอบ ณ ท่าเรือเอกชน หรือท่าเรืออนุญาตที่ตั้งอยู่ในบริเวณอาณาเขตท่าเรือกรุงเทพ และขอให้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มประเภทของสินค้าที่ต้องชำระค่า Cargo Dues และกำหนดอัตราเรียก เก็บสำหรับสินค้าแต่ละกลุ่มให้สอดคล้องกับสัดส่วนต้นทุนของสินค้าเพื่อลดต้นทุนการนำเข้าและการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศและการส่งออก
  5. แก้ไขเงื่อนเวลาตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 102, 103 เรื่องถ่ายลำ ผ่านแดน ให้ของถ่ายลำหรือผ่านแดนสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 60 วัน และขอให้แก้ไขบทลงโทษให้สินค้าที่ไม่สามารถส่งออกจากราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นของตกค้างตามกฎหมายศุลกากรแทนการตกเป็นของแผ่นดิน
  6. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการภายใต้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับยกระดับประสิทธิภาพโลจิสติกส์ แบ่งเป็น
  • ทางบก อาทิ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน และโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค
  • ทางเรือ อาทิ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการขนส่งทางน้ำ โครงการพัฒนา Port Community System (PCS) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 โครงการศึกษาทบทวนโครงสร้างรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขนส่ง ทางทะเลและอัตราค่าธรรมเนียม อาทิ ค่า Terminal Handling Charge (THC) รวมถึงใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติ ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ในการกำกับกำหนดให้ค่าบริการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศทั้งระบบเป็นบริการควบคุมและดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผล
  • ทางราง อาทิ เร่งรัดการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น -หนองคาย โครงการก่อสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง แห่งที่ 2 (ICD 2)
  • ทางอากาศ อาทิ การเตรียมความพร้อมเครื่องมือในการตรวจเอ็กซเรย์สินค้าในท่าอากาศยานนานาชาติให้สอดคล้องกับมาตรการ Air Cargo Security 2021 โดย International Civil Aviation Organization (ICAO) รวมถึงการจัดหาเครื่องบินขนส่งสินค้าทางอากาศ (Freighter) เพื่อให้บริการประจำเส้นทางและสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด
  • อื่นๆ อาทิ โครงการศึกษาสำรวจความต้องการการเดินทาง (Travel Demand Survey) และปรับปรุงฐานข้อมูลการเคลื่อนย้ายสินค้า เพื่อการวางแผนระบบขนส่งของประเทศ และการส่งเสริมการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ให้เป็น Single Submission อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 63 หดตัว -10% (ณ กันยายน 2563) บนสมมติฐานค่าเงิน 31.5 (+-0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร (อาหารกระป๋อง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง) และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home ยังคงขยายตัวได้ดี จากอานิสงค์ของการระบาดโควิด-19 ในบางพื้นที่

สำหรับภาพรวมช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค.63 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 133,162 ล้านดอลลาร์ หดตัว -7.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 119,118 ล้านดอลลาร์ หดตัว -14.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้า 14,044 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัยแล้วการส่งออกหดตัว -9.02%

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

  1. สถานการณ์การระบาดโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรง อาทิ สหรัฐที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกลับมาระบาดครั้งใหม่ในหลายประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นต้น ทำให้มีการเริ่มกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งอาจกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มประเทศดังกล่าว
  2. ทิศทางการนำเข้าหดตัวลง แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผลิตและส่งออกโดยใช้วัตถุดิบและสินค้าที่มีอยู่เดิม ประกอบกับความเชื่อมั่นในตลาดโลกที่ยังไม่ดีนัก ทำให้การผลิตต่ำกว่าระดับประหยัดต่อขนาดของการผลิตซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้และอาจส่งผลให้บริษัทที่สายป่านไม่ยาวพอต้องปิดกิจการได้ อาทิ กลุ่มยานยนต์และสิ่งทอ
  3. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในทิศทางที่แข็งค่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังคงมีแนวโน้มตึงเครียดในหลายประเด็นต่อเนื่อง อาทิ การเจรจาความตกลงระยะที่ 1 ยังไม่มีความคืบหน้า และผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์โดยเปรียบเทียบกับค่าเงินบาทจากความไม่แน่นอนของการออกงบประมาณช่วยเหลือโควิด-19 จากรัฐบาลกลางสหรัฐ

    สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบันเฉลี่ยที่ระดับ 31.00-31.50 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนนั้นไม่ค่อยดี นอกจากนี้การที่ตัวเลขนำเข้ามีแนวโน้มหดตัวมากไม่สอดคล้องกับการส่งออกสะท้อนว่าการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในอนาคตจะลดลง
  4. ระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำกว่าปี 2562 มากกว่า 30% อันเนื่องมาจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการชะลอของอุปสงค์การใช้น้ำมันทั่วโลก ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูปยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
  5. ปัญหาภัยแล้ง ดังจะเห็นได้จากปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก อาทิ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยฯ-ป่าสัก ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ส่งผลต่อคุณภาพและอุปทานของสินค้าเกษตรที่อาจไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก อาทิ กลุ่มสินค้าข้าวและอ้อย เป็นต้น
  6. ปัญหาด้านโลจิสติกส์ในประเทศและระหว่างประเทศ อาทิ ค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเส้นทางทรานส์แปซิฟิกและเส้นทางยุโรป เนื่องด้วยการประกาศขึ้นค่าระวาง รวมถึงการจัดระวางขนส่งและตู้สินค้าจากสายเรือไปยังเจ้าของสินค้าจากจีนและเวียดนามในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับจัดสรรระวางและตู้สินค้าไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีการเสนอราคาค่าระวางที่ค่อนข้างสูงแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกระจายสินค้าข้ามชาติ อีกทั้งผู้ประกอบการได้รับส่วนต่างกำไรจากคำสั่งซื้อลดลงเนื่องด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน สรท. เปิดเผยว่า สรท.เตรียมเสนอให้ภาครัฐแก้ปัญหาต้นทุนด้านโลจิสติกส์อย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดย สรท.จะนำประเด็นดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พิจารณาในวันพรุ่งนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top