สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นปรับลดประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ของญี่ปุ่น หดตัวลง 28.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากรายงานตัวเลขประมาณการเบื้องต้นซึ่งหดตัว 27.8% เนื่องจากการลงทุนในภาคธุรกิจชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส GDP ของญี่ปุ่นหดตัวลง 7.9% ในไตรมาส 2 ซึ่งแย่กว่ารายงานตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 7.8%
การอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2 ของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลประกาศมาตรการฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งภายใต้มาตรการดังกล่าวนั้น รัฐบาลท้องถิ่นได้ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และสั่งระงับการดำเนินธุรกิจที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันได้มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในเมืองขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการส่งออกของญี่ปุ่น
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การหดตัวลงของ GDP ในไตรมาส 2 นั้น ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการบันทึกข้อมูล GDP ในปี 2498
ส่วนการใช้จ่ายด้านทุนร่วงลง 4.7% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งทรุดตัวลงอย่างหนักจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าปรับตัวลงเพียง 1.5%
ขณะที่การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ปรับตัวลง 7.9% ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัวลง 8.2%
การลงทุนในภาคเอกชนปรับตัวขึ้น 1.1% ซึ่งลดลงจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าลดลง 1.2% ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลลดลง 0.6% ซึ่งย่ำแย่กว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าปรับตัวลง 0.3%
สำหรับการส่งออกสินค้าและการบริการ ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ร่วงลง 18.5% ขณะที่การนำเข้าลดลง 0.5% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 63)
Tags: GDP, จีดีพี, ญี่ปุ่น, เศรษฐกิจญี่ปุ่น