นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์วิกฤต COVID-19 นำมาซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI)
แต่อย่างไรก็ตามยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากหลายประเทศในการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิตเข้ามาโดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนจากประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร การแปรรูปสินค้าเกษตร และเครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ภาคการผลิตในประเทศเองเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเช่นเดียวกัน
สอดคล้องกับการรายงานตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ระบุว่ามีการกลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (สถิติล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2563)
“โดยรวมแม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงไม่ดีมากนัก และอาจส่งผลกระทบกับการลงทุนจากต่างประเทศได้ ซึ่งในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรองรับการลงทุน เช่น กนอ.ตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งเพื่อเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียนสำหรับรองรับการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ของนักลงทุนที่ตอบโจทย์ทุกการแข่งขัน ด้วยศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานสากลแบบครบวงจร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก และการบริหารจัดการอย่างทั่วถึง
ขณะเดียวกัน กนอ.ยังมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุน และมีมาตรการช่วยเหลือสำหรับนักลงทุนเดิมในนิคมอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้นในสภาวะการแข่งขันปัจจุบัน ไม่ว่าจะขายในประเทศหรือผลิตเพื่อการส่งออก บวกกับการที่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ในการเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน 3 ด้าน คือ 1.เป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาค 2.มีการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ที่ชัดเจน ทั้งทางถนนและรถไฟ และ 3.เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาค จึงเป็นแรงขับเคลื่อนอีกทางที่เร่งให้การลงทุนล็อตใหม่เกิดได้เร็วยิ่งขึ้น”รมว.กล่าว
ด้านน.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเสริมว่า กนอ.คาดการณ์ว่าการลงทุนจากต่างชาติจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการของ กนอ.ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาที่มีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตเพิ่มขึ้น ทั้งที่เป็นการแจ้งประกอบกิจการใหม่ และขยายกิจการเดิม แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้การเดินทางเข้า-ออกประเทศของนักลงทุนเกิดการชะลอตัว กนอ.จึงได้ปรับแผนรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการติดต่อกับนักลงทุนผ่านระบบเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ และสื่อสารในระบบออนไลน์มาเป็นเครื่องมือสื่อสารข้อมูลเบื้องต้นกับกลุ่มลูกค้าและนักลงทุน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนตัดสินใจเข้ามาลงทุน
“ที่ผ่านมานักลงทุนให้ความสนใจมาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการที่ได้มาตรฐานสากล ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบโทรคมนาคม และการบริการที่ครบครัน มีความพร้อมด้านห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ อีกทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากทางภาครัฐที่มีเสถียรภาพและชัดเจน จึงเสมือนเป็นแม่เหล็กที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนให้ตัดสินใจมาลงทุนเพิ่มและขยายการลงทุนเดิมเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ไทยยังเป็นเป้าหมายของการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่สามารถการันตีความเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆของภูมิภาค สอดคล้องกับผลการหารือระหว่างนักลงทุนญี่ปุ่น เจโทร และเจซีซี ที่ระบุว่านักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยและใช้เป็นฐานการลงทุน เนื่องจากไทยมีความหลากหลายทางการลงทุน และมีระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่ดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถเชื่อมโยงหรือหาคู่ธุรกิจเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันได้ไม่ยากนัก”ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ย. 63)
Tags: กนอ., กระทรวงอุตสาหกรรม, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, การลงทุน, สมจิณณ์ พิลึก, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, อาเซียน, อุตสาหกรรม, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย