ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) โดยดิ่งลงวันเดียวมากที่สุดในรอบหลายเดือน เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ทะยานขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากและต้องใช้เวลานาน
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,292.73 จุด ร่วงลง 807.77 จุด หรือ -2.78%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,455.06 จุด ร่วงลง 125.78 จุด หรือ -3.51% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,458.10 จุด ร่วงลง 598.34 จุด หรือ -4.96%
ดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวดังกล่าวร่วงลงวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร หลังดัชนี S&P500 ทำสถิติปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นครั้งที่ 22 แล้วในปีนี้, ดัชนี Nasdaq ปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 43 ครั้ง และดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 29,000 ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของดัชนี S&P500 ร่วงลงหลังปรับตัวขึ้น 10 วันติดต่อกัน และดัชนี Nasdaq ร่วงลง หลังปรับตัวขึ้น 4 วันติดต่อกัน
หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ร่วงลงได้แก่หุ้นเฟซบุ๊ก, แอปเปิล, แอมะซอน.คอม, ไมโครซอฟท์ และอัลฟาเบท
หุ้นเฟซบุ๊ก ร่วง 3.8% หลังประกาศว่าจะห้ามการโฆษณาทางการเมืองในสัปดาห์ก่อนหน้าวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.
หุ้นอัลฟาเบท ปิดร่วง 5% หลังรายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอาจดำเนินคดีต่อต้านการผูกขาดตลาดกับทางบริษัทอย่างเร็วที่สุดในเดือนนี้
หุ้นกลุ่มบริษัทซอฟท์แวร์ร่วงลงด้วย โดยหุ้นเซลส์ฟอร์ซ.คอม ปิดร่วง 7.8%
นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสาร, กลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต, กลุ่มพลังงาน และกลุ่มการเงินต่างก็ปรับตัวลงด้วยเช่นกัน
นักวิเคราะห์ระบุว่า นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร หลังจากดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดตลาดทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันพุธนี้ และดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นใกล้ระดับสูงสุดของเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นด้านการเงินและการคลัง เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
หุ้นเทสลาถ่วงตลาดลงด้วย หลังราคาหุ้นร่วงลงอีกเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน โดยร่วงลง 9.02%
นักวิเคราะห์รายหนึ่งระบุว่า การร่วงลงของตลาดเป็นเพียงการย้ายฐานการลงทุนออกจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
นักลงทุนจะจับตาการรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.255 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 881,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 950,000 ราย หลังจากมีจำนวน 1.011 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 13.254 ล้านราย หลังจากพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะ 24.912 ล้านรายในช่วงต้นเดือนพ.ค.
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนก.ค. โดยพุ่งขึ้น 18.9% สู่ระดับ 6.36 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การนำเข้าพุ่งขึ้น 10.9% สู่ระดับ 2.317 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 8.1% สู่ระดับ 1.681 แสนล้านดอลลาร์
ส่วนผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 56.9 ในเดือนส.ค. จากระดับ 58.1 ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 57.0
อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคบริการของ ISM สวนทางกับข้อมูลของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 55.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 50.0 ในเดือนก.ค. โดยก่อนหน้านี้ ดัชนี PMI ทรุดตัวลงแตะ 26.7 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ย. 63)
Tags: ดาวโจนส์, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก