นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อดำเนินการตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในนักกีฬาและบุคลากรฟุตบอลอาชีพในการแข่งขันไทยลีก ระยะเวลา 1 ปี
เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกที่จะเริ่มแข่งขันในวันที่ 12 กันยายน 2563 ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ก็ต้องดำเนินการตามคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมด้านการกีฬา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำหนดให้นักกีฬาและบุคลากรฟุตบอลอาชีพทุกคนในทีม ต้องผ่านการตรวจทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อไวรัสโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR ทั้งก่อนและระหว่างแข่งขัน รวม 4 ครั้ง
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีชุดตรวจและวิธีการตรวจที่ได้มาตรฐาน อยากให้แฟนฟุตบอลมีความมั่นใจว่า การจัดแข่งขันกีฬาฟุตบอลไทยลีกมีความปลอดภัยทั้งกับผู้เล่นและผู้ชม และหากจัดการแข่งขันในรูปแบบของ New Normal อย่างต่อเนื่องแล้วไม่มีการติดเชื้อโควิด 19 ก็จะช่วยลดความเกรงกลัว กล้าออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ถือเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย”
นายอนุทินกล่าว
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะอบรมวิธีการเก็บตัวอย่างทั้งแบบจากโพรงจมูกและน้ำลายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของแต่ละทีมเพื่อให้สามารถเก็บตัวอย่างได้เองในอนาคต ส่งตรวจได้ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีศักยภาพในการตรวจวันละ 1,000 ตัวอย่าง และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง ตรวจได้วันละ 400 ตัวอย่าง กรณีผลตรวจเป็นบวก ต้องเข้าสู่กระบวนการตามรูปแบบของกรมควบคุมโรค โดยจะเก็บตัวอย่าง 4 ครั้ง ทั้งในช่วงก่อนแข่งหรือระหว่างการแข่งขัน ครั้งแรกในวันที่ 8-10 กันยายน 2563 จากนั้นจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจทุก 1 เดือนจนถึงธันวาคม 2563
ด้านพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า นักกีฬาและบุคลากรฟุตบอลทั้งหมด เช่น ผู้ตัดสิน สตาฟฟ์ เป็นต้น จะต้องขึ้นทะเบียนกับบริษัทไทยลีก จำกัด ภายในวันที่ 7 ก.ย.63 จากนั้นบริษัทจะส่งรายชื่อให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด 19 ภายในวันที่ 8-9 ก.ย.63 และเมื่อได้รับผลการตรวจในวันที่ 10-11 ก.ย.63 จะส่งผลการตรวจให้แก่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทราบด้วย โดยจำนวนนักกีฬาและบุคลากรฟุตบอลสำหรับการแข่งขันไทยลีก แบ่งเป็น ไทยลีก 1 จำนวน 16 ทีม ไทยลีก 2 จำนวน 18 ทีม และไทยลีก 3 ที่แข่งขันตามภูมิภาค รวมประมาณ 6,100 คน โดยไทยลีก 1-2 จะมีจำนวนที่ต้องตรวจประมาณ 1,500 คน สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 63)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, นักกีฬา, นักฟุตบอลอาชีพ, ฟุตบอลไทยลีก, สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง, สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19, โอภาส การย์กวินพงศ์, ไทยลีก