ศบศ.ผ่านมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’-แจกเงิน 3 พันใช้จ่าย

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงผลการประชุมของคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มเติมภายใต้โครงการ”เราเที่ยวด้วยกัน”, การส่งเสริมการจ้างงานโดยเฉพาะให้แก่ผู้จบการศึกษาใหม่ และ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการส่งเสริมการจ้างงานและการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนจะใช้เม็ดเงินราว 6.85 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์”เราเที่ยวด้วยกัน”

ปรับเงื่อนไขเพิ่มสิทธิประโยชน์ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’

ในส่วนมาตรการท่องเที่ยว แบ่งออกเป็นการเพิ่มสิทธิให้ผู้ลงทะเบียนจำนวน 3 สิทธิ ได้แก่ (1) เพิ่มส่วนลดค่าที่พัก 40% เป็นจำนวน 10 คืนต่อคน (2) เพิ่มคูปองอาหารต่อการท่องเที่ยว สูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวัน โดยหากท่องเที่ยวในวันจันทร์-พฤหัสบดีจะอุดหนุน 900 บาท ขณะที่วันศุกร์-อาทิตย์จะอุดหนุน 600 บาท และ (3) ให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินจำนวน 2,000 บาทต่อที่นั่ง โดยเริ่มดำเนินการนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.63

นอกจากนี้ เห็นชอบในหลักการให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิในแพ็คเกจเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา เพิ่มความถี่การพักค้าง และกระตุ้นการใช้จ่ายกลุ่มที่มีศักยภาพ รวมทั้งดึงดูดกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ อาทิ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น

นายดนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปพิจารณาเพิ่มโอกาสกลุ่มคนสูงวัย หรือผู้มีกำลังซื้อสูง สามารถเข้าถึงโครงการ”เราเที่ยวด้วยกัน”ได้มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนสูงวัยอาจไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยี หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งอาจจะจัดเป็นคูปอง หรือบัตรสมาร์ทการ์ดแทนเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

หนุนจ้างงานเด็กจบใหม่

ในส่วนการจ้างงาน ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา โดยมีอัตราค่าจ้าง ตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท

ทั้งนี้ รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจะมีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

นายดนุชา กล่าวว่า รัฐบาลคาดว่าต้องใช้งบประมาณ 23,476 ล้านบาทภายใต้มาตรการสนับสนุนการจ้างงานดังกล่าว ซึ่งมีบริษัทขนาดใหญ่ด้านพลังงานพร้อมเข้าร่วมโครงการนี้ในหลายพันตำแหน่ง โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม มีการยืนยันตัวตนผ่านกระทรวงแรงงาน และต้องมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมไม่เกินกว่า 15% ภายในระยะเวลา 1 ปี (กรณีที่ลูกจ้างลาออกในระหว่างโครงการ นายจ้างหรือเจ้าของสถาน

นายดนุชา กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการจัดงาน Job Expo ในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะมีอัตรางานมานำเสนอภายในงานดังกล่าวประมาณ 1 ล้านตำแหน่ง และมีมติเห็นชอบสร้างแฟลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งจะมีรายละเอียดตำแหน่งงานว่าง ทั้งงานประจำ งานพาร์ทไทม์ และคอร์สฝึกอบรมต่างๆ โดยจะเปิดตัวในระยะต่อไป

เล็งแจกเงิน 3,000 บาท/คน ผ่านแอป ‘เป๋าตัง’

ส่วนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่นำเสนอ โดยกระทรวงการคลัง ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบหลักการซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปที่ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย โดยรัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่าย 50% และจำกัดการใช้จ่ายต่อคนตลอดโครงการ

กลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวนประมาณ 15 ล้านคน คาดว่าใช้งบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท และกลุ่มร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยทั่วไป ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย ประมาณ 80,000 ร้านค้า เน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ยกเว้น แอลกอฮอล์กับบุหรี่ ไม่เข้าข่ายใช้โครงการนี้ ผ่านกลไกกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล

นายดนุชา กล่าวว่า ลักษณะโครงการจะคล้ายๆกับมาตรการ “ชิม ช็อป ใช้” แต่โครงการนี้ใช้แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ในการจับจ่ายใช้สอย โดยหลักการผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีการลงทะเบียน ใครลงทะเบียนก่อนได้รับสิทธิก่อน เมื่อได้รับสิทธิจะได้รับเงิน 3,000 บาทต่อคน ใช้ได้ในระยะเวลา 3 เดือน แต่กำหนดเงื่อนไขว่าใช้ได้วันละ 100-250 บาท คาดว่าจะเริ่มมาตรการในเดือนตุลาคมนี้ รายละเอียดทั้งหมดมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ไปจัดทำรายละเอียด ก่อนเสนอกลับมาที่ประชุม ศบศ.ในอีก 2 สัปดาห์

นายดนุชา ยอมรับว่า มาตรการ 3,000 บาทต่อคน ยังไม่ได้ตัดสิทธิการใช้จ่ายเงินในร้าน 7-11 หรือ ร้านโมเดิร์นเทรด แต่ในรายละเอียดจะต้องไปพิจารณาว่าสามารถใช้กับร้านค้าเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมตรีเน้นย้ำอยากให้มีการช่วยเหลือคนตัวเล็กจริงๆ หรือหาบเร่ แผงลอย เป็นหลัก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top