“ผมไม่อยากตัดสินใจผิดพลาดเรื่องสำคัญทางการเมืองในระหว่างที่ต้องรักษาตัว ผมตัดสินใจแล้วว่า ผมไม่ควรนั่งอยู่ในตำแหน่งนี้ ตราบใดที่ไม่สามารถรับมือกับเรื่องเร่งด่วนของประชาชนได้อย่างมั่นใจ”
วรรคหนึ่งของสุนทรพจน์ที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่นและประธานพรรคแอลดีพีกล่าวในช่วงแถลงข่าวประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น
หลังเผชิญมรสุมด้านสุขภาพจากอาการเจ็บป่วยด้วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ท่ามกลางมรสุมภายในประเทศจากวิกฤตโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง …ปิดฉากนายกรัฐมนตรีแห่งแดนอาทิตย์อุทัยที่ขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยอายุน้อยที่สุด และครองสถิติอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งสิ้น 2,799 วัน (นับถึงวันที่ 24 ส.ค.)
วินาทีที่สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีอาเบะจบลง ทั่วโลกต่างสาดสปอตไลท์จับจ้องไปที่ตัวเก็งผู้นำคนใหม่ของพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือแอลดีพี ซึ่งจะก้าวขึ้นมารับไม้ต่อจากนายอาเบะไปอีกอย่างน้อยจนถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า หรือราวเดือนกันยายน 2564 โดยจนถึงขณะนี้มีสมาชิกพรรคแอลดีพีที่ประกาศลงชิงตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว 2 คน คือ นายชิเกรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม และนายฟูมิโอะ คิชิดะ หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรแอลดีพี ขณะที่นายฮิโรชิเดะ สึกะ คาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงเย็นวันนี้ (2 ก.ย.)
In Focus ประจำสัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านนับถอยหลังไปทำความรู้จักกับตัวเก็งประธานพรรคแอลดีพีและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผู้ซึ่งจะก้าวขึ้นมากุมบังเหียนกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
โยชิฮิเดะ สึกะ
มือขวาวัย 71 ปีของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล ในศึกชิงเก้าอี้ประธานพรรคครั้งนี้ เขายังได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกกลุ่มใหญ่ของพรรคแอลดีพี ซึ่งนำโดยนายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่น และยังมีสมาชิกสภานิติบัญญัติกลุ่มหนึ่ง รวมถึงอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ที่หนุนให้เขาลงชิงตำแหน่งประธานพรรคแอลดีพี
อย่างไรก็ดี แม้นายสึกะจะมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับนายอาเบะ ซึ่งน่าจะเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ แต่ในมุมมองทางการเมือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยยามาเนโกะ (Yamaneko Research Institute) ในกรุงโตเกียว ให้ความเห็นประเด็นนี้ว่า “การที่นายสึกะใกล้ชิดกับนายอาเบะ อาจมองได้ว่าเป็นการสืบทอดนโยบายทั้งส่วนที่เป็นผลดีและเสียต่อจากนายอาเบะก็เป็นได้ หากเขาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี”
ชิเกรุ อิชิบะ
อดีตรัฐมนตรีกลาโหม วัย 63 ปี อีกหนึ่งตัวเก็งที่เคยขับเคี่ยวชิงตำแหน่งประธานพรรคแอลดีพีกับนายอาเบะมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปี 2555 ซึ่งนายอิชิบะเกือบเฉือนชนะนายอาเบะมาแล้ว และอีกครั้งในปี 2561 ซึ่งเขาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานพรรคเพียงคนเดียวที่ลงแข่ง ก่อนจะปราชัยให้นายอาเบะเป็นครั้งที่สอง
แม้ฐานเสียงและแรงสนับสนุนภายในพรรคแอลดีพีของนายอิชิบะจะเป็นรองนายสึกะอยู่หลายช่วงตัว แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากสื่อหลายสำนักพบว่า ชาวญี่ปุ่นเทใจอยากให้นายอิชิบะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากที่สุด ด้วยบุคลิกขวานผ่าซากและกล้าลุกขึ้นมาวิจารณ์นายอาเบะ โดยนายอิชิบะบอกว่า เหตุที่เขาได้รับคะแนนนิยมสูงนั้นเป็นเพราะเขาไม่หวั่นเกรงที่จะลุกขึ้นมาขวางแนวทางการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งตอกย้ำความต่างระหว่างตัวเขากับนายสึกะได้อย่างชัดเจน
ด้านนโยบายต่างประเทศนั้น นายอิชิบะต้องการให้ญี่ปุ่นผูกมิตรกับประเทศในอาเซียนให้มากขึ้น โดยย้ำว่าญี่ปุ่นต้องสร้างความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความไว้วางใจทั้งทางการเมือง วัฒนธรรม และความมั่นคงกับประเทศในเอเชียด้วยกัน นายอิชิบะยังต้องการให้ญี่ปุ่นเปิดใจหันมาร่วมมือกับเกาหลีใต้ให้มากขึ้น เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของญี่ปุ่น และยังต้องการให้ญี่ปุ่นเปิดการเจรจากับเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจรวมไปถึงการตั้งสำนักงานประสานงานทั้งที่โตเกียวและเปียงยาง
ส่วนนโยบายด้านกลาโหมนั้น นายอิชิบะขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีสายเหยี่ยว โดยต้องการให้ญี่ปุ่นมีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งกว่านี้ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน นอกจากนี้ นายอิชิบะยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร และกระทรวงการปฏิรูปชนบทด้วย
ฟูมิโอะ คิชิดะ
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ วัย 63 ปี โดยดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2555-2560 นายคิชิดะเป็นอีกหนึ่งตัวเก็งที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนายอาเบะ และยังมีตำแหน่งที่สำคัญภายในพรรคหลายตำแหน่ง รวมถึงประธานสภาวิจัยนโยบายของพรรคแอลดีพี อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นหัวหน้าฝ่ายนโยบาย แต่นายคิชิดะกลับถูกวิจารณ์ว่าตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ได้ไม่ดีพอ นักวิเคราะห์ยังมองว่า เขายังขาดเสน่ห์ทางการเมืองและไม่ค่อยทำตัวเป็นข่าวมากนัก
นายคิชิดะประกาศในงานแถลงข่าวว่า เขาจะรับฟังเสียงประชาชนให้มาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่นายอาเบะยังมีไม่มากพอ
ทั้งนี้ ในปี 2561 นายคิชิดะเคยเป็นหนึ่งในตัวเก็งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว แต่หลีกทางให้นายอาเบะในที่สุด
หวั่นสุญญากาศทางการเมือง เร่งเลือกประธานพรรค งดสมาชิกระดับล่างร่วมโหวต
ล่าสุดพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของญี่ปุ่นตัดสินใจไม่นำสมาชิกพรรคระดับล่างเข้าร่วมโหวตลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกประธานพรรคคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นมาเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากนายชินโซ อาเบะ และจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยสมาชิกพรรคระดับสูงเปิดเผยว่า เนื่องจากนายชินโซ อาเบะประกาศลงจากตำแหน่งกลางคัน ทำให้ทางพรรคจำเป็นต้องลดความซับซ้อนของกระบวนการสรรหาผู้สืบทอดตำแหน่ง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดอยู่
ทั้งนี้ การแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำพรรคจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ก.ย.นี้ และผู้ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งวันที่ 14 ก.ย. ก็จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยอัตโนมัติในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญซึ่งอาจจะจัดขึ้นในวันที่ 16 ก.ย. เนื่องจากพรรคแอลดีพีครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
โพลชี้เต็งหนึ่งในใจประชาชนสวนกระแสนิยมพรรค
ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นโดยสำนักข่าวเกียวโด พบว่า นายชิเกรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม มีคะแนนนำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 34.3% ขณะที่นายสึกะ ได้ไปเพียง 14.3% ตามด้วยนายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบันได้ไป 13.6% นายชินจิโร โคอิซุมิ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 10.1% ส่วนนายฟูมิโอะ คิชิดะได้คะแนนรั้งท้ายเพียง 7.5%
อย่างไรก็ดี กลุ่มขั้วต่างๆ ในพรรคแอลดีพีพร้อมใจกันหนุนให้นายสึกะขึ้นให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากนายอาเบะ นำโดยส.ส.ในกลุ่มของนายฮิโรยูกิ โฮซาดะ อดีตเลขาธิการพรรคแอลดีพี ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มทั้งสิ้น 98 คน, กลุ่มของนายทาโร อาโสะ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังในปัจจุบัน ประกอบด้วยสมาชิก 54 คน, กลุ่มของนายโตชิฮิโร นิคาอิ เลขาธิการพรรคแอลดีพีในปัจจุบันที่มีสมาชิกกลุ่ม 47 คนก็เล็งสนับสนุนนายสึกะด้วย เช่นเดียวกับกลุ่ม 54 คนของนายวาทารุ ทาเกชิตะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการ และกลุ่ม 11 คนของนายโนบุเทรุ อิชิฮาระ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงที่ดิน
ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนของนายคิชิดะมีทั้งสิ้น 47 คน ส่วนกลุ่มของนายอิชิบะมีเพียง 19 คน
จากเสียงกองเชียร์ภายในพรรค ถึงแม้ว่านายอิชิบะจะเป็นต่อในโพลสำรวจ แต่สุดท้ายแล้ว มติจากสมาชิกพรรคจะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้งนี้ เพราะญี่ปุ่นไม่ได้เปิดให้ประชาชนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่จะมาจากการลงคะแนนเสียงโดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปกติแล้วผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ก็คือประธานพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง
อีกไม่กี่วันข้างหน้า เราจะได้รู้กันว่าใครจะคว้าเก้าอี้ประธานพรรคแอลดีพีไปครองและก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น แต่ที่แน่ๆ เส้นทางในอีกหนึ่งปีข้างหน้า จะเป็นเครื่องวัดใจและพิสูจน์ความสามารถของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในยุคที่โลกถูกคุกคามจากโควิด-19 รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ … จากนี้ไปอีกหนึ่งปี ชาวญี่ปุ่นคงบอกได้ว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะสอบผ่านหรือสอบตก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 63)
Tags: ชินโซ อาเบะ, ชิเกรุ อิชิบะ, ทาโร อาโสะ, นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, พรรคแอลดีพี, ฟูมิโอะ คิชิดะ, ฮิโรชิเดะ สึกะ, เลือกตั้งญี่ปุ่น