คณะผู้เชี่ยวชาญของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะแนะนำให้ใช้พลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน (convalescent plasma) ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวสวนทางกับที่สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ได้ออกมายืนยันเมื่อไม่นานมานี้ว่า พลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันสามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้
ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญของ NIH ระบุว่า ในบรรดาผู้ที่ได้รับพลาสมาที่ประกอบด้วยแอนติบอดีจำนวนมากนั้น ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงความแตกต่างในการรอดชีวิตโดยรวมในระยะเวลา 7 วัน
แถลงการณ์ของผู้เชี่ยวชาญยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกที่สามารถชี้ชัดได้ว่า การใช้พลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
ถ้อยแถลงดังกล่าวสวนทางกับที่ FDA และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แถลงยืนยันเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า การรักษาด้วยพลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ถึง 35%
ทางด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็มีท่าทีระมัดระวังต่อการที่สหรัฐอนุมัติใช้พลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยระบุว่า การทดลองทางคลินิกพบว่า การรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยการใช้พลาสมานั้น ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่ครั้ง และควรใช้ในการทดลองเท่านั้นเพื่อทำการประเมินผลต่อไป แทนที่จะใช้รักษาผู้ป่วยในวงกว้าง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 63)
Tags: convalescent plasma, COVID-19, FDA, NIH, WHO, พลาสมา, สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ, สหรัฐ, สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ, องค์การอนามัยโลก, โควิด-19