บรรดานักวิเคราะห์ลงความเห็นว่า เงินหยวนของจีนจะยังไม่เข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในเร็วๆนี้ แต่หยวนมีความสำคัญมากขึ้นในทุนสำรองระดับโลก และในการค้าระหว่างประเทศ
นักวิเคราะห์จำนวนมากระบุถึง การที่ดอลลาร์สหรัฐกำลังสูญเสียความสำคัญในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ระบุว่า เงินหยวนของจีนจะมีความสำคัญมากขึ้น และการใช้หยวนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นทีละน้อยเนื่องจากจีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
สเวน ชูเบิร์ต นักวิเคราะห์ของวอนโทเบล แอสเซต แมเนจเมนต์กล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ อาทิ การทำสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีน และอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนผ่านทางโครงการร่วมมือหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road initiative – BRI) มีผลกระทบต่อความสำคัญของค่าเงินหยวน
ธนาคารดีบีเอสในสิงคโปร์ระบุว่า ขณะที่จีนและสหรัฐยังคงขัดแย้งกันนั้น ความตึงเครียดเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคโนโลยีและการเงินนั้นได้กระตุ้นให้จีนดำเนินการผลักดันครั้งใหม่เพื่อให้หยวนเป็นสกุลเงินสากล
ดีบีเอสเปิดเผยว่า หยวนเป็นสกุลเงินที่มีการใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 6 ในการชำระเงินระหว่างประเทศ และเงินหยวนถูกใช้ในการทำการค้าของจีนราว 20%
ดีบีเอสระบุว่า ในปัจจุบันสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งสร้างโอกาสที่จะเพิ่มการใช้หยวนในการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มนี้
ส่วนข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า สัดส่วนของหยวนในทุนสำรองโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 1% ในปี 2559 สู่ระดับราว 2% ในปัจจุบัน
นายชูเบิร์ตกล่าวว่า อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในโครงการ BRI เป็นหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้มีการใช้เงินหยวนโดยทั่วไปมากขึ้น โดยโครงการ BRI ตั้งเป้าสร้างเครือข่ายทางรถไฟ ถนน และเส้นทางทะเลจากจีนไปยังเอเชียกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการค้าด้วย
นอกจากนี้ นายชูเบิร์ตกล่าวว่า จีนและรัสเซียยังได้จับมือกันเพื่อลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย โดยรายงานประจำปีล่าสุดจากธนาคารกลางรัสเซียระบุว่า รัสเซียได้เพิ่มเงินหยวนในทุนสำรองจากกว่า 2% ในปี 2561 เป็นกว่า 14% ในปี 2562 และลดสัดส่วนของดอลลาร์ในทุนสำรองลงจากราว 30% เหลือ 9.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ด้านเอสวาร์ พราแซด ศาสตราจารย์ด้านการค้าของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์กล่าวว่า ความพยายามของจีนที่จะเปิดเสรีภาคการเงิน รวมถึงตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรที่ถูกรวมในดัชนีโลกนั้น จะช่วยเพิ่มความสำคัญของหยวนอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 63)
Tags: การค้าโลก, การเงิน, จีน, ดอลลาร์สหรัฐ, ตลาดพันธบัตร, ธนาคารดีบีเอส, มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์, วอนโทเบล แอสเซต แมเนจเมนต์, สิงคโปร์, สเวน ชูเบิร์ต, เงินหยวน, เอสวาร์ พราแซด