บมจ.ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ (SCM) หุ้นป้ายแดงประกาศความพร้อมลงสนามเทรดใน SET วันที่ 8 ก.ย.63 หลังขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ที่หุ้นละ 1.90 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 13.86 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) จากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง (1 ก.ค.62-30 มิ.ย.63)
SCM ประกอบธุรกิจเครือข่ายขายตรง (MLM) รายแรกที่เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยบริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย.55 ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ธุรกิจเครือข่ายจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และสินค้าอุปโภคและบริโภค ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ
ธุรกิจให้บริการคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจเครือข่ายและรับจัดงานสัมมนา เช่น การบริหารจัดการทั่วไป การบริหารจัดการนักธุรกิจ การตลาด การบัญชี การวางแผนภาษี ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจรับจัดงานสัมมนา ให้บริการเฉพาะนักธุรกิจซัคเซสมอร์ และตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศเท่านั้น
และธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า มีกำลังการผลิตประมาณ 15,000 ชิ้นต่อเดือน มีการผลิตสินค้าจำนวน 5 SKUs ได้แก่ F4, Orysamin, Right, Phytaplex และ Vistaplex
นายนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ (SCM) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สำหรับวัตถุประสงค์การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET ส่วนหนึ่งต้องการสร้างแบรนด์ SCM เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยเฉพาะการสร้างชื่อเสียงในตลาดอาเซียน และอนาคตมีแผนขยายตลาดเพื่อก้าวขึ้นสู่แบรนด์ในระดับภูมิภาคเอเชียด้วย
“ยกตัวอย่างที่เราเข้าไปในประเทศมาเลเซียมีหลายคำถามมาก เพราะประเทศมาเลเซียมี 4 บริษัทที่ประกอบธุรกิจเครือข่ายคล้ายกับ SCM ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯประเทศมาเลเซีย ซึ่งหลังจากที่รู้ว่า SCM กำลังเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้วช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและกระตุ้นยอดขายได้ดีขึ้นนอกจากนั้นมีความตั้งใจที่อยากให้พันธมิตรและสมาชิกของ SCM มาร่วมกันเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย อีกหนึ่งความตั้งใจคือการนำเงินระดมทุนไปพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อขยายแนวรบไปข้างหน้าต่อเนื่อง”
ส่วนความเชื่อมั่นต่อการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนอยู่นั้น นายนพกฤษฏิ์ กล่าวว่า ทางฝ่ายบริหารมีความเชื่อมั่นปัจจัยพื้นฐานและธุรกิจมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต
“เราเป็นนักรบ ย่อมไม่กลัวสนามรบ เพราะเมื่อเราต้องการชนะในสนามรบจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้เกมการแข่งขัน ดังนั้นจึงไม่กลัวที่จะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลง”
การเข้าตลาดครั้งนี้ก็มีทั้งตัวแปรที่ควบคุมได้และตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ เราจะไม่เสียเวลาไปกับตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราจะมุ่งสมาธิอย่างเต็มที่ไปกับตัวแปรที่ควบคุมได้ เช่น สร้างโอกาสเติบโตของธุรกิจในอนาคตเสริมความแข็งแกร่งเรื่องแบรนด์ ,ผลิตภัณฑ์ ระบบคุณภาพการให้บริการ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ,พัฒนาบุคลากร เป็นต้น เมื่อคำถามที่เราถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา เป็นคำถามที่ถูกต้องสุดท้ายแล้วเราก็จะได้รับคำตอบที่ทำให้เราดีขึ้น”
เป้าเพิ่มสมาชิกในไทย 20,000 ราย/ปี-ขยายฐานอาเซียนชิงตลาดรวมหลายแสนล้าน
นายนพกฤษฏิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนสมาชิกประมาณ 180,000 ราย โดยแต่ละปีตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20,000 ราย ซึ่งเป็นแค่เฉพาะโมเดลการขยายฐานสมาชิกในไทยเท่านั้น ยังไม่นับรวมกับแผนขยายสมาชิกในตลาดต่างประเทศที่ใช้โมเดลคล้ายกับการขยายสมาชิกในไทย ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา, เวียดนาม, สปป.ลาว, สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ส่วนธุรกิจขายตรงในประเทศเมียนมา ล่าสุดกฏหมายรองรับธุรกิจขายตรงผ่านการอนุมัติของสภาฯของเมียนมาแล้ว คาดจะเริ่มเข้าไปประกอบธุรกิจได้ในเร็วๆนี้
โครงสร้างธุรกิจที่มีรายได้จากต่างประเทศ ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้รวม แบ่งเป็นรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์, รายได้ค่าปรึกษา, รายได้จากการจัดงานสัมนาในต่างประเทศ
“เมียนมาเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีโอกาสเติบโตมาก เพราะผู้คนยอมรับสินค้ามาตรฐานประเทศไทยและมีความต้องการเรียนรู้อยากเข้าฟังสัมมนา”
นายพฤษฎิ์ กล่าว
สำหรับภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมที่ประกอบธุรกิจเครือข่ายขายตรงในไทยพบว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะมีหลายรายประกอบธุรกิจคล้ายกัน แต่มีเพียง 10 รายแรกเท่านั้นที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันแล้วมากกว่า 80% แล้ว ซึ่งบริษัทมีความพร้อมเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ
“แม้ว่าตลาดในไทยจะมีมูลค่า 7 หมื่นล้านบาท แต่หากนับรวมกับตลาดในอาเซียนจะมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งแบรนด์ของ SCM ก็กระจายไปในหลายประเทศอาเซียนแล้ว ทำให้มีโอกาสขยายตลาดได้อีกมหาศาล”
นายพฤษฎิ์ กล่าว
โครงสร้างธุรกิจอัพกำไรในอนาคต
นายนพกฤษฏิ์ กล่าวถึงความสามารถสร้างกำไรโดยรวมของ SCM ว่า ปัจจุบันภาพรวมอัตรากำไรขั้นต้นบริษัทเฉลี่ยอยู่ที่ 73-75% แต่เมื่อรวมกับงบลงทุนด้านการตลาดแล้วจะเหลือเป็นอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยที่ 4-5%
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนเพิ่มอัตรากำไรสุทธิในอนาคตด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ เพราะแม้จะมีสัดส่วนแค่ 10% ของรายได้รวม แต่กลับมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยสูงกว่า 20% หมายความว่าหากบริษัทสามารถขยายตลาดในอาเซียนเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลบวกโดยตรงต่อภาพรวมอัตรากำไรสุทธิของ SCM ให้ขยับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนั้น โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่บริษัทเข้าไปลงทุนสัดส่วน 55% จะเริ่มเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์ช่วงเดือน พ.ย.63 นั้น เบื้องต้นโรงงานดังกล่าวมีอัตรากำไรสุทธิ 30-35% แต่บริษัทจะได้รับประโยชน์ 2 เด้งทั้งจากส่วนแบ่งกำไรตามการถือหุ้นและได้ต้นทุนลดลงด้วย เป็นส่วนช่วยผลักดันอัตรากำไรสุทธิของ SCM ให้มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
“ความตั้งใจที่อยากกระจายหุ้นออกสู่มหาชน โจทย์เรื่องความสามารถกำไรเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารเราคิดมาตลอด ต้องเพิ่มเสน่ห์ให้กับหุ้น SCM ควบคู่ไปกับแนวทางสร้างการดูแลให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ถือหุ้น”
อนึ่ง ผลประกอบการ SCM ปี 62 มีรายได้ 1,100.76 ล้านบาท กำไรสุทธิ 59 ล้านบาท และครึ่งแรกของปี 63 มีรายได้ 417.77 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.82 ล้านบาท หรือ 15.73% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ระดมทุนขยายสาขา-พัฒนาแพลตฟอร์มต่อยอด “Big Data”
สำหรับแผนการใช้เงินระดมทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำไปปรับปรุงสาขาและขยายสาขาที่เป็นพื้นที่ยุทธ์ศาสตร์ โดยเฉพาะโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีกหลายจังหวัดหัวเมืองใหญ่ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่อยอดในธุรกิจเครือข่ายของ SCM ด้วยการนำข้อมูลจำนวนมากของ Big Data มาวิเคราะห์เพิ่มประสิทธิภาพของยอดขาย และสนับสนุนสมาชิกในไทยและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
“อนาคต Big Data จะเป็นหัวใจของธุรกิจ SCM เพราะเราพูดถึงสมาชิกจำนวนมากที่เข้าไปถึงกลุ่มผู้บริโภค ดังนั้นการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทำการตลาดแบบตรงกลุ่มเป้าหมายจึงมีความสำคัญอย่างมาก”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 63)
Tags: Big Data, IPO, SCM, ขายตรง, ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์, นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร, หุ้นไทย, อาหารเสริม, ไอพีโอ