นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.20 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.11 บาท/ดอลลาร์
“เช้านี้เงินบาทอ่อนค่าจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือดอลลาร์แข็งค่าหลังตัวเลข ISM ภาคการผลิตออกมาดีกว่าคาด และปัจจัยในประเทศคือความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังรมว.คลังลาออกในช่วงที่ประเทศกำลังต้องการการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ”
นักบริหารเงินกล่าว
นักบริหารเงิน มองกรอบเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 31.15-31.30 บาท/ดอลลาร์ นอกจากติดตามปัจจัยการเมืองในประเทศแล้ว ยังมีตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนและการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ
THAI BAHT FIX 3M (1 ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.37770% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.41035%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 106.08 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 105.73 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1898 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 1.1979 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 30.9890 บาท/ดอลลาร์
- ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องรัฐมนตรีลาออก ด้วยนายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง ขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2563 ความเป็นรัฐมนตรีของนายปรีดี จึงสิ้นสุดลง
- ติดตามการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.)
- รายงานข่าวจากกระทวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เป้าหมายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยทั้งปี 63 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1.23 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย ซึ่งเดิมคาดว่าน่าจะทำได้ 4.02 แสนล้านบาท อาจทำได้ยากมากขึ้นหลังจากพบปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวไทยชะลอการเดินทางท่องเที่ยว คือ ปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวลดลงมาก จนอาจทำให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมีอุปสรรคมากขึ้นเพราะนักท่องเที่ยวเลือกเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นในชีวิตมากกว่าการใช้เงินเพื่อไปท่องเที่ยว
- สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Kiel Institute for the World Economy ของเยอรมนี คาดการณ์ว่า การค้าโลกน่าจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร็วกว่าสมัยที่ฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 เมื่อประเมินจากปริมาณการขนส่งซึ่งฟื้นตัวกลับมาอยู่ในจุดที่สมัยวิกฤติการเงินโลกต้องใช้เวลากว่า 1 ปี
- สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 54.2 ในเดือนก.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.5
- ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.1 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 50.9 ในเดือนก.ค.
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งในเดือนส.ค.
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำสามารถปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาทองยังคงมีแนวโน้มขาขึ้น โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกหลายปี
- นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
- ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.จาก ADP, ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือน ส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนก.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากมาร์กิต และดัชนีภาคบริการเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 63)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท