ให้แนวรับสำคัญ 1,310-1,290 จุด อาจลงลึกที่ 1,250 จุด
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นโลกเดือน ส.ค. ฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนระบาดโควิด-19 โดยดัชนี MSCI World Index ซึ่งเป็นตัวแทนดัชนีหุ้นโลกปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนมีโควิด-19 ไปแล้ว 4% ขณะที่หุ้นไทยยังคงย่ำอยู่กับที่ และมีทิศทางที่แย่กว่าตลาดหุ้นโลก (Underperform) ซึ่งเป็นไปตามที่ บล.ทิสโก้ได้เคยประเมินไว้
โดยดัชนีหุ้นไทยปีนี้ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนระบาดโควิด-19 โดยติดลบอยู่ 17% ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างของหุ้นไทยที่มีน้ำหนักหุ้นกลุ่มพลังงานมากเป็นอันดับหนึ่ง ที่ประมาณ 22%
“ในช่วงที่ผ่านมาหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลกอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเนื่องจากกลุ่มพลังงานซึ่งมีความอ่อนไหวสูงต่อทิศทางราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจมีน้ำหนักต่อการคำนวณดัชนีหุ้นไทยค่อนข้างมาก แถมกว่า 70% ของเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงกับภาคต่างประเทศ จึงทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤติโควิด-19 ขณะที่หุ้นโลก (MSCI World Index) นั้น พบว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศมีน้ำหนักต่อดัชนีมากเป็นอันดับหนึ่ง ที่ 21% ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบน้อยมากจากโควิด-19 และกำลังเติบโตตามเทรนด์หลักของโลก” นายอภิชาติกล่าว
นอกจากนี้ แนวโน้มการหั่นประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยที่ยังไม่จบจะกดดันระดับการประเมินมูลค่าหุ้นไทยให้ยิ่งแพงขึ้น จากการตรวจสอบประมาณการกำไรของตลาดในปีนี้และปีหน้ายังคงถูกหั่นลงอยู่ โดยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กำไรต่อหุ้น (EPS) บริษัทจดทะเบียนไทยถูกหั่นลงอีก 3.5% และ 4.6% มาอยู่ที่ 59.0 บาท และ 76.7 บาท ตามลำดับ นับเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยอัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Fwd. PER) ของตลาดหุ้นไทยปีนี้ และปีหน้าอยู่ในระดับสูงที่ 22.2 เท่า และ 17.1 เท่า ตามลำดับ ถือว่าแพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ประมาณ 15-16 เท่า
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดหุ้นไทยไม่แกว่งไปไหน มากว่า 3 เดือนแล้ว ซึ่งแตกต่างจากประมาณการกำไรโดยรวมของตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนา (MSCI DM) กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (MSCI EM) และกลุ่มภูมิภาคเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น (MSCI Asia ex. Japan) ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับการชุมนุมทางการเมืองเดือน ก.ย. นี้ คาดว่าจะมีน้ำหนักต่อดัชนีหุ้นไทยมากขึ้น และจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะถ่วงตลาดหุ้นไทยให้มีแนวโน้มปรับขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลก (Underperform) โดยจากการเก็บสถิติพบว่า ในช่วงที่มีม็อบ 3 ครั้งล่าสุด คือ ม็อบพันธมิตรฯ ม็อบนปช. และม็อบกปปส. ดัชนีหุ้นไทยมักจะปรับตัวลงเฉลี่ย ลบเกือบ 3% ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นโลก ที่ในช่วงเวลาเดียวกันปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 2% นอกจากนี้ ยังพบว่า ผลตอบแทนของหุ้นไทยจะผันแปรไปตามระยะเวลาที่มีม็อบ โดยยิ่งมีม็อบนาน ยิ่งกดดันตลาดมาก
ทั้งนี้ หลังจากที่หุ้นไทยแกว่งตัวไม่ไปไหนร่วม 3 เดือน และมูลค่าซื้อขายแผ่วลงต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าจะเห็นการหมุนกลุ่มหุ้นลงทุนไปเรื่อยๆ (Sector Rotation) โดยมองว่าหลังจากนี้นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาส 2/2563 ที่เป็นจุดต่ำสุด แต่ราคาหุ้นยังขยับตัวขึ้นช้าอยู่ (Laggards) ผสานกับความหวังเกี่ยวกับพัฒนาวัคซีนที่คาดจะช่วยกระตุ้นราคาหุ้นเหล่านี้เป็นระยะ
โดยในเดือน ก.ย. มีปัจจัยติดตามที่สำคัญคือ 1. การสิ้นสุดมาตรการควบคุมความผันผวนของตลาดในสิ้นเดือน ก.ย. นี้ ทั้งการปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor จากเดิม +/- 30% เป็น +/- 15% และการปรับเกณฑ์ Short Sales เป็น “Uptick Rule” จะทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นหลังที่คาดว่าจะทำให้ปริมาณ Short Sales กลับมาทยอยเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติที่ประมาณ 5% ของมูลค่าการซื้อขายของตลาดโดยรวม 2. ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในอดีตมักทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แกว่งพักฐานในกรอบจำกัด
สำหรับหุ้นเด่นที่แนะนำในเดือน ก.ย. คือ AEONTS, BEM, BGC, CENTEL, CRC และ TU ด้านแนวรับสำคัญของหุ้นไทยในเดือน ก.ย. มองอยู่ที่ 1,310- 1,290 จุด และมีแนวรับถัดไปที่ 1,270-1,280 และ 1,250 จุดตามลำดับ ส่วนแนวต้านสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,340 – 1,350 จุด และมีแนวต้านถัดไปที่ 1,380 – 1,390 จุด ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 63)
Tags: การเมือง, ตลาดหุ้น, ทิสโก้, ม็อบ, หุ้นไทย, อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล