นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในช่วงเดือน ก.ย.63 ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) มีโอกาสที่จะปรับตัว Sideways ถึง Sideways down หลังนักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยประมาณการ EPS ปี 64 ณ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 76.7 บาทต่อหุ้น
หากอิงกับ PE Model ของทรีนีตี้ ซึ่งมีกรอบบนของ Forward PE อยู่ที่ 16.8 เท่า จะได้ว่าระดับดัชนี SET ที่เหมาะสมในกรณีดีสุดจะอยู่เพียงแค่ 1,290 จุดเท่านั้น ซึ่งหากเทียบเคียงกับดัชนีปัจจุบัน จะเห็นว่ามี Downside risk อยู่ จึงประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสแกว่งตัวอิงทางลงมากกว่าในเดือนนี้
ทั้งนี้ แนะนำให้กันเงินสดไว้ส่วนหนึ่งเพื่อรอซื้อในช่วงดัชนีย่อตัวหรือปรับฐาน โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index ในเดือน ก.ย.ที่ 1,270 -1,340 จุด โดยหุ้นขนาดกลาง-เล็กมีโอกาส Outperform ต่อไป
“ขณะนี้การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ไม่ใช่จังหวะการลงทุนที่ปลอดภัยมากนัก เพราะ Earning Yield Gap ของ SET ทำจุดต่ำสุดครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเทียบเคียงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยหรือสหรัฐฯเองก็ตาม ซึ่งทำให้ช่วงถัดไปอาจเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ทั้งไทยและเทศมากขึ้น”
นายณัฐชาต กล่าว
นายณัฐชาต กล่าวว่า การลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโตต่ำ หรือบางประเทศถึงขั้นติดลบส่งผลให้นักลงทุนแสวงการลงทุนในหุ้น Growth stock หรือหุ้นเติบโต โดยนักลงทุนยอมที่จะจ่ายค่าพรีเมี่ยมให้กับหุ้นเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าหุ้นเติบโต ซึ่งในกรณีของไทยมักเป็นหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กจึงเป็นธีมการลงทุนหลักในตลาดโลก ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้น Value stock หรือหุ้นที่มีมูลค่าถูกในช่วงนี้ ทั้งนี้ ทรีนีตี้คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัวอย่างแท้จริง
“ตอนนี้หุ้นไทยไม่ได้อยู่ในสายตานักลงทุนต่างประเทศเลยเพราะหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 ถูกปรับลดประมาณการ EPS ลงมาต่อเนื่อง แถมปีหน้าจะโตเพียง 20% เท่านั้น แต่ทว่าในทางกลับกัน หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในดัชนี sSET กลับได้รับการปรับประมาณการเพิ่มจากนักวิเคราะห์ในตลาด จนทำให้ Forward PE ปัจจุบันของหุ้นกลุ่มนี้อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและถูกว่า Forward PE ของหุ้นขนาดใหญ่อีกด้วย”
นายณัฐชาต กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในเดือน ก.ย.63 แนะนำให้รอจังหวะดัชนีย่อตัวลงมาที่บริเวณแนวรับเพื่อเข้าสะสมหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีธีมการลงทุนน่าสนใจ แบ่งออกเป็น 5 ธีมดังนี้
- กลุ่มบริหารหนี้ที่ได้ประโยชน์จากหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แนะนำ JMT และ CHAYO
- กลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบราคาถูก และอิงกับสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งได้รับผลกระทบน้อย หากเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว แนะนำ SFLEX, PTL, BGC, UTP
- กลุ่มปั๊มน้ำมัน ซึ่งได้ประโยชน์จากค่าการตลาดที่ทรงตัวในระดับสูง และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ แนะนำ PTG
- กลุ่มถุงมือยาง ที่มียอดการส่งออกแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าสามารถหาจังหวะการเข้าซื้อได้ในช่วงที่มีข่าวดีเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมา แนะนำ STGTและ
- หุ้นอื่น ๆ มี Earnings momentum เชิงบวกในช่วงครึ่งปีหลัง อาทิ ILINK, PRM, TKN, TPCH เป็นต้น
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในเดือน ก.ย.ก็คือ ตัวเลขภาคการผลิตทั่วโลก หากตัวเลขดีอาจเป็น Sentiment เชิงบวกกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะมีคิวการประชุมกันอย่างหนาแน่นในเดือนนี้
ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศ ติดตามประเด็นทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและงบประมาณ และการชุมนุมของกลุ่มคนต่างๆ สุดท้าย ต้องติดตามความเป็นไปได้ในการต่ออายุมาตรการควบคุมการชอร์ตเซลของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถ้าหากถูกยืดออกไปจากจากที่จะครบกำหนดอายุในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ก็อาจทำให้การปรับฐานแรง ๆ ของดัชนีนั้นยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่เช่นเดิม
นายณัฐชาต กล่าวว่า ทรีนีตี้ ให้ความสำคัญเรื่อง Asset Allocation มาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ช่วงต้นปีแนะนำการลงทุนในทองคำราว 10% ของพอร์ตการลงทุนรวม แต่เมื่อทองคำปรับตัวทะลุระดับ 2,000 เหรียญฯต่อออนซ์ จึงแนะนำให้ลดน้ำหนักลงมาเหลือ 5% อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหลังราคาหลุดต่ำกว่า 2,000 เหรียญฯต่อออนซ์อีกครั้ง จึงแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักอีกครั้งหนึ่งมาอยู่ที่สัดส่วนราว 5-10% ของพอร์ต
ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในทองคำยังคงมีความน่าสนใจ จากแนวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ที่จะยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมถึงมีการปล่อยให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มทะลุระดับ 2% ได้ในบางช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริงอยู่ในระดับติดลบต่อไป ทั้งนี้ ประเมินภาวะฟองสบู่ในทองคำจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าราคาทองคำจะขึ้นไปที่ระดับ 2,166 เหรียญฯต่อออนซ์ ซึ่งเป็นราคาที่เทียบเท่าจุดสูงสุดในยุค 1980 (พ.ศ.2523) ในมิติของราคาทองคำแท้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 63)
Tags: SET, ณัฐชาต เมฆมาสิน, ตลาดหุ้นไทย, บล.ทรีนีตี้, หุ้นไทย, เศรษฐกิจไทย