ม.หอการค้า ประเมิน 5 ปัจจัยเสี่ยง กระทบ GDP ไทยปีนี้ราว 1.3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 63 จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่, การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ความต้องการสินค้าไทยลดลง, ปัญหาภัยแล้ง, ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และ ความล่าช้าของงบประมาณปี 63 โดยคาดว่าจากปัจจัยเสี่ยงทั้ง 5 ด้านจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 2.26 แสนล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ราว 1.3%

อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทยจะยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยยังคง GDP ไว้ที่ 2.8% เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของแต่ละปัจจัยต่างๆ ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ยืดเยื้อยาวนานไปมากกว่า 3 เดือน หรือจะต้องไม่เกินไปจากเดือนพ.ค.นี้ เพราะหากควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก

“หากสถานการณ์จบเร็ว งบประมาณเบิกจ่ายได้เร็ว การท่องเที่ยวฟื้น เศรษฐกิจไทยก็อาจจะไม่กระทบหนัก แต่อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่ GDP จะโตได้น้อยกว่า 2.5% เพียงแต่ตอนนี้เราจะยังไม่ปรับประมาณการ ขอคงไว้ที่ 2.8% ตามเดิมก่อน เพราะหลายปัจจัยยังมีความไม่แน่นอน” นายธนวรรธน์ระบุ

  • ปัจจัยเสี่ยงแรกในเรื่องผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น ม.หอการค้าไทย มองว่า หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนมี.ค.63 และการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ภายใน 3 เดือน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 1.17 แสนล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลง 0.67%
  • ปัจจัยที่สอง การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยลดลง โดยหากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือน มี.ค.63 ก็จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยได้รับผลกระทบในวงจำกัด ไม่เกิน 15,500 ล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลง 0.09%
  • ปัจจัยที่สาม ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งในกรณีที่สถานการณ์ดังกล่าวได้รับการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำก็จะทำให้ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่เกิน 10,200 ล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลงเพียง 0.06%
  • ปัจจัยที่สี่ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยเชื่อว่าหากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อนานไปกว่า 1 เดือน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่เกิน 6,200 ล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลงเพียง 0.04%
  • ปัจจัยที่ห้า ปัญหาความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในกรณีที่สามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ราวเดือนเม.ย.นี้ ก็คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจราว 77,500 ล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลงราว 0.44%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ม.หอการค้าไทย จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลดังนี้

1.ทำตลาดเชิงรุกในตลาดนักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ออกมาตรการฟรีวีซ่าในระยะสั้น และเพิ่มประเทศที่สามารถขอ Visa on Arrival (VOA) ได้

2.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบเหลื่อมปี หรืองบค้างท่อ

3.เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเบิกจ่ายงบลงทุนเร็วขึ้น

4.กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

5.ให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน

6.ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยให้ธนาคารพาณิย์ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และ

7.บริหารจัดการให้เงินบาทอ่อนค่าใกล้เคียงระดับ 31.50-32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 2.8% การส่งออกขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.8% ขณะที่การนำเข้า ลดลงเล็กน้อยที่ -0.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 1%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top