นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.วางเป้าหมายปรับตัวเป็นผู้พัฒนาตลาดก๊าซธรรมชาติ (gas marketers) จากเดิมที่เน้นความเป็นเลิศด้านการผลิต (operation excellence) หลังจากที่ไทยเริ่มเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ ประกอบกับปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยเริ่มลดต่ำลง
อย่างไรก็ตามการเติบโตของตลาดก๊าซฯในไทยที่ยังไม่เร่งตัวมากนัก ทำให้ปตท.มองโอกาสการขยายตลาดดังกล่าวในต่างประเทศเป็นหลัก
สำหรับแนวทางการดำเนินการ มีทั้งรูปแบบการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG HUB) เพื่อนำเข้าและส่งออก LNG ไปยังภูมิภาคที่มีความต้องการใช้มาก รวมถึงการเปิดตลาดก๊าซฯภายในนิคมอุตสาหกรรมที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในเมียนมา ที่ปัจจุบันปตท.ได้เข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในนิคมฯพื้นที่ย่างกุ้ง ซึ่งมีนิคมฯมากกว่า 10 แห่ง โดยปตท.ได้เข้าไปศึกษา 2-3 แห่ง เพื่อป้อนก๊าซฯรองรับการใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะส่งผ่านทางท่อ หรือในรูปแบบของ LNG
“คงต้องดูภาพดีมานด์ก่อนว่า ดีมานด์เยอะน้อยแค่ไหน อยู่ระหว่างไปสำรวจ ในนิคมฯย่างกุ้งมีผู้ประกอบการของไทยและต่างชาติ เราเข้าไปดูหลายนิคมฯ ถ้ามีโอกาสที่เราไปทำ distribution ในต่างประเทศ เพราะเป็นธุรกิจที่มีความพร้อม เราก็ดูโอกาสเรื่องเหล่านี้ ทำได้ทั้งที่เป็นท่อหรือ LNG ก็ทำได้หลากหลาย สำหรับธุรกิจในอนาคตก็อาจจะเป็นลักษณะ swap วอลุ่มก็ได้ มีความหลากหลายมาก”
นายวุฒิกร กล่าว
ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.มีการลงทุนในเมียนมาหลายประเภท แต่การลงทุนขนาดใหญ่เป็นการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลายแปลง ผ่านทาง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) รวมถึงก่อนหน้านี้ยังเคยศึกษาการก่อสร้างสถานีรับ-จ่าย LNG ในพื้นที่ KANBAUK อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เคยมอบหมายให้ปตท.ศึกษาโครงการก่อสร้างสถานีรับ-จ่าย LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ (FSRU) ในเมียนมาด้วย
นายวุฒิกร กล่าวว่า ส่วนการเป็นเทรดเดอร์ LNG ในภูมิภาคนั้น ปัจจุบัน ปตท.ได้เริ่มทดลองดำเนินการบ้างแล้วเมื่อช่วงต้นปี 63 โดยการนำเข้า LNG แล้วส่งออกไปยังจีนตอนใต้ แต่ติดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชะลอแผนงานไปบ้าง อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าจะกลับมาดำเนินการได้ใหม่ในช่วงไตรมาส 3/63 หรือปลายปีนี้ ภายใต้โครงการ LNG HUB และในอนาคตหากจะให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่มีความต้องการที่จะเป็นฮับเช่นกัน ก็อาจจะต้องรอนโยบายสนับสนุนพิเศษจากภาครัฐเพิ่มเติมด้วย
ปัจจุบัน ปตท.ได้เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใน 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับ Regional LNG HUB เพื่อร่วมทดสอบว่ามีกฎหมายใดที่ต้องปรับแก้ไขเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินการและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันได้ โดยปัจจุบันการดำเนินการยังอยู่ภายใต้เกณฑ์เดิมที่มีอยู่ และอัตราค่าบริการก็เท่ากับอัตราผู้ใช้ในประเทศ โดยคาดว่าจะส่งผลสรุปให้กับกกพ.ได้ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.64 โดยการส่งออก LNG ของปตท. จะเป็นการส่งเฉพาะ LNG ออกไปยังผู้รับประเทศปลายทางที่อาจจะต้องไปแปลงสภาพจาก LNG ซึ่งเป็นของเหลว เพื่อเป็นก๊าซฯ ก่อนที่จะนำไปใช้งานต่อไป
สำหรับตลาดในภูมิภาค CLMV ทั้งเมียนมา ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม รวมถึงจีนตอนใต้ คาดว่าจะมีความต้องการใช้ LNG มากกว่า 1 ล้านตัน/ปี โดย ปตท.วางเป้าที่จะทำการตลาดในระดับดังกล่าว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นสำเร็จได้ในช่วงเวลาใด แต่ในปี 63 คาดว่าจะได้เห็นการส่งออกในระดับ 65,000 ตัน หลังคาดว่าตลาดก๊าซฯในภูมิภาคจะกลับมาปกติในช่วงกลางปี 64 หรือปลายปี 64 หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ ปตท.ก็ยังให้ความสำคัญกับตลาดก๊าซฯในประเทศ โดยเน้นการขายในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทั้งการขาย LNG ทางรถให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีกว่า 10 ราย ซึ่งเป็นการขนส่งทางรถยนต์ให้กับลูกค้าที่อยู่นอกแนวท่อ รวมถึงมีกลุ่มลูกค้านิคมฯ ที่ซื้อก๊าซฯผ่านท่อแล้วเชื่อมต่อเข้าโรงงานของลูกค้านิคมฯต่อไป
นายวุฒิกร กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างราคาก๊าซฯในอนาคตนั้น เห็นว่าไม่ควรมีการควบคุม และให้มีการแข่งขัน โดยใช้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนด และให้ผลตอบแทนสะท้อนต้นทุน ขณะที่ค่าบริการในปัจจุบันแยกตามโซนพื้นที่ เช่น ในทะเล บนบก เป็นต้น
ขณะที่ ปตท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เพื่อผลักดัน GPSC เข้าร่วมยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ต่อ กกพ.เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่นที่ได้รับใบอนุญาต Shipper ไปแล้ว ทำให้สามารถนำเข้า LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเอง จากเดิมที่ ปตท.เป็นเพียงรายเดียวที่นำเข้า LNG เป็นครั้งแรกเมื่อปี 54
ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาต Shipper รวม 5 ราย ได้แก่ ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ,บริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF และบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ในนามบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) และกลุ่มบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ขณะที่ก๊าซฯ นับเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ในไทย
“ปัจจุบันสัญญาโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯหมดแล้ว ที่ยังไม่ได้ลงนามซื้อขาย ก็มีกลุ่ม SPP Replacement แต่ performance ที่เราทำ ก็จะเห็นที่เราเคยนำเข้า LNG spot ในราคาที่แข่งขันได้ สุดท้ายพอเข้าโหมดแข่งขันก็พิสูจน์กันด้วยผลการดำเนินงานมากกว่า แต่วันนี้เราก็มีประสบการณ์การดำเนินงานมา 40 กว่าปี เชื่อว่าเราอยู่บนพื้นฐานที่แข่งขันได้ แต่ย้ำว่ากติกาทั้งหลายต้องเป็นกติกาที่ apply ได้ทุกกลุ่มอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรม”
นายวุฒิกร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 63)
Tags: gas marketers, LNG, PTT, ก๊าซธรรมชาติ, ปตท., วุฒิกร สติฐิต