รับแผนขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้า-สกุลฎ์ซี หนุน พร้อมส่งโรงไฟฟ้าเข้า mai
นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายผลักดันรายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 64-66) สูงเกินกว่า 5 พันล้านบาทภายในปี 66 โดยจะเติบโตมากกว่าเท่าตัวจาก 2 พันล้านบาทในปี 62 ตามแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกราว 40 เมกะวัตต์ (MW) และธุรกิจ”สกุลฎ์ซี” ผู้ออกแบบและประกอบเรืออลูมิเนียมและยานพาหนะอื่นๆ ที่เตรียมแผนรุกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม
ซึ่งจะช่วยผลักดันให้รายได้พุ่งขึ้นอย่างมากในอนาคต ขณะที่ธุรกิจหนังที่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเบาะหนังสำหรับรถยนต์ที่เป็นธุรกิจเดิมค่อนข้างทรงตัว หลังมองตลาดยานยนต์ในไทยจะไม่ขยายตัวมากนัก
บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนราว 1.5 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 4 แห่ง กำลังผลิตรวม 40 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 4 พันล้านบาทในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยเงินลงทุนส่วนหนึ่งจะมาจากการนำบริษัท ชัยวัฒนา กรีน เพาเวอร์ จำกัด เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ(mai) คาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ภายในไตรมาส 2/64
“ปัจจุบันธุรกิจออโต้ก็จะนิ่งๆ พันกว่าบวกลบ โรงไฟฟ้าแต่ละตัวก็จะมากกว่า 300 ล้านบาทต่อโรง แต่มี EBITDA โรงไฟฟ้าประมาณ 40% น่าจะได้ ส่วนสกุลฎ์ซี ปีนี้ก็จะเห็น 500 ล้านบาท แต่ปีถัดไปน่าจะเกิน 3 พันล้านบาทแล้ว..ช่วง 3 ปี เรานับตั้งแต่ปี 64 ถึงปี 66 รายได้เราน่าจะเกิน 5 พันล้าบาท ถ้าธุรกิจปังอย่างที่คาด ปี 64 ก็น่าจะเริ่มเห็น takeoff ของงานรถบัส เรือ ซึ่งเป็นงานแม่พิมพ์ สเกลก็จะไปได้เร็ว” นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทมี 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจหนัง ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเบาะหนังรถยนต์ สร้างยอดขายราว 1.2-1.5 พันล้านบาท/ปี แต่คาดว่าธุรกิจจะไม่เติบโตมากกว่าปัจจุบันมากนัก เพราะภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และต้นทุนการดำเนินงานสูงอาจจะไม่ดึงดูดใจให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นผลิตรถยนต์จากฐานผลิตในไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมองหาโอกาสเพิ่มเติมจากความร่วมมือกับพันธมิตรจีนรายใหญ่ที่อาจจะย้ายฐานการผลิตเบาะหนังและเครื่องหนังบางส่วนมายังไทย หลังจากมีปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่กรณีดังกล่าวคงต้องใช้เวลาตัดสินใจเป็นปี โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นที่บริษัททดลองรับออร์เดอร์ของทางจีนมาเริ่มผลิตในระดับที่ไม่มากนัก
2.ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตราว 15 เมกะวัตต์ จาก 2 โครงการ ได้แก่ การถือหุ้น 60% ในโครงการโซลาร์ฟาร์ม 5 เมกะวัตต์ และถือหุ้น 100% ในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 เมกะวัตต์ใน จ.สระแก้ว ซึ่งทั้งสองโครงการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว
และล่าสุดบริษัทได้รับสัญญาบริหารจัดการและการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน เทศบาลนครสวรรค์ โดยเตรียมยื่นขอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากพลังงานขยะขนาดกำลังการผลิตราว 10 เมกะวัตต์ต่อไป บริษัทจะถือหุ้นเองทั้ง 100% คาดว่าจะได้รับ PPA ภายในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะร่วมกับพันธมิตรพัฒนาโรงไฟฟ้าอีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะ 2 แห่ง และชีวมวลอีก 1 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี แต่คงยังต้องให้ได้รับ PPA ก่อน ขณะเดียวกันยังให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่รัฐบาลเตรียมจะเปิดรับซื้อไฟฟ้า เบื้องต้นได้เจรจากับชุมชน 2 รายเพื่อร่วมมือพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาด 3 และ 8 เมกะวัตต์ตามลำดับ แต่ยอมรัยว่าอาจจะยังไม่ได้ดำเนินการได้เร็วมาก
นายวีระพล กล่าวอีกว่า ตามแผนการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าอีก 4 แห่ง กำลังผลิตรวมประมาณ 40 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 4 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ราว 2 ใน 3 จะมาจากเงินกู้โครงการ (Project Finance) ส่วนอีกราว 1 ใน 3 จะมาจากส่วนทุน หรือราว 1.3 พันล้านบาท ซึ่งจะมาจากการนำบริษัท ชัยวัฒนา กรีน เพาเวอร์ จำกัด เข้าระดมทุนใน mai รวมถึงการเตรียมขายหุ้นเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ของ CWT จำนวน 105.02 ล้านหุ้น จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (RO) ในอนาคต และการแปลงสภาพวอร์แรนต์ CWT-W5 ที่จะเริ่มแปลงสภาพได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
“เรามี General Mandate RO รอไว้ ขอให้ได้ PPA นครสวรรค์ก่อน เราถึงจะพิจารณาอีกที ทุกวันนี้จะไม่เอาเงินมารอก่อน รอให้ชัวร์ก่อนว่ามีรายได้แน่ ๆ ถึงจะเพิ่มทุน ตัว PPA ตอนนี้กระบวนการเริ่มแล้ว รอมหาดไทยรับรองว่าเราเป็นเจ้าของเชื้อเพลิงจริงหลังจากนั้นก็ไปยื่นกับกกพ.ได้เลย” นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจที่ 3.เป็นการลงทุนถือหุ้น 50.01% ในบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งคาดหวังจะเป็น S-curve ในอนาคต ปัจจุบัน สกุลฎ์ซี เป็นผู้ออกแบบและประกอบเรืออลูมิเนียม และรถบัสอลูมิเนียม และล่าสุดต่อยอดไปสู่เรือและรถบัสไฟฟ้า โดยเมื่อต้นเดือน ส.ค. สกุลฎ์ซี ร่วมกับกลุ่ม บมจ.บ้านปู (BANPU) และบริษัท ภูเก็ต พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป จำกัด เปิดตัวเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าในภูเก็ต 1 ลำเตรียมนำไปให้บริการในเดือน ก.ย. และยังมีคำสั่งซื้อจากกลุ่ม BANPU อีก 1 ลำที่เตรียมจะเปิดตัวต่อไปในเร็ว ๆ นี้ คาดหวังจะมีตลาดเรือท่องเที่ยวครอบคลุมทะเลแถบอันดามันสูงถึง 200 ลำในอนาคต
ขณะเดียวกัน ยังมีโอกาสที่จะเจาะตลาดเรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจาก บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ได้เข้ามาดูงานที่บริษัทแล้ว แม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้เปิดตัวเรือโดยสารไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาไปแล้ว แต่วิ่งคนละเส้นทางกับเรือด่วนเจ้าพระยา
นอกจากนี้ สกุลฎ์ซี ยังต่อยอดการผลิตรถบัสไฟฟ้า โดยในวันที่ 31 ส.ค.นี้จะส่งมอบรถอีวีบัสขนาด 12 เมตร ให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อเป็นต้นแบบ หลังจากที่ ขสมก.มีแผนจะเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถอีวีบัสในอนาคต จึงเป็นโอกาสแก่สกุลฎ์ซีด้วย ขณะที่การผลิตรถบัสด้วยตัวถังอลูมิเนียมของสกุลฎ์ซีก็จะเป็นการเปิดตลาดใหม่ด้วย เนื่องจากตัวถังอลูมิเนียมมีขนาดเบากว่าตัวถังเหล็ก ทำให้ประหยัดน้ำมันมากกว่าด้วย คาดว่าการผลิตรถกลุ่มแรกจะเป็นรถมินิบัสที่จะเข้ามาแทนรถตู้วินที่วิ่งระหว่างจังหวัด และมีโอกาสที่จะต่อยอดเป็นการผลิตอีวีมินิบัสที่จะเข้ามาแทนรถตู้วินที่วิ่งภายในเมือง ซึ่งมีระยะทางไม่ไกลมากนักในอนาคต
นายวีระพล กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของสกุลฎ์ซีคาดว่าจะเติบโตสูงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 64 ในระดับเกินกว่า 3 พันล้านบาท หากสามารถจำหน่ายรถมินิบัสได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงขยายตลาดทั้งรถและเรือท่องเที่ยวในประเทศ และคาดหวังจะเป็นฐานผลิตส่งออกไปในอนาคต ก็เชื่อว่าสกุลฎ์ซีจะเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้หลักมากกว่า 50% ของรายได้รวมของบริษัทได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทคาดหวังว่าจะฟื้นตัวจากครึ่งปีแรกที่มีรายได้จากการขายและบริการ 692.42 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 29.33 ล้านบาท หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายทำให้เริ่มมีคำสั่งซื้อธุรกิจหนังจากกลุ่มยานยนต์กลับเข้ามา ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ายังทรงตัว ส่วนธุรกิจของสกุลฎ์ซี มีการส่งมอบเรือต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรือไฟฟ้าท่องเที่ยวที่จะส่งมอบในปีนี้ 2 ลำ
ด้านต้นทุนหนังดิบและสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งลดลงมากในช่วงครึ่งปีแรก ก็คาดว่าจะยังต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง จากภาวะราคาน้ำมันที่ต่ำ และการปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้จะเกิน 20% ดีกว่าปีที่แล้ว และคาดหวังว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะขยับเพิ่มขึ้นมาในระดับ 25% จากการขยายตัวของธุรกิจสกุลฎ์ซี และโรงไฟฟ้า นอกเหนือจากการสร้างกระแสเงินสดที่ดีต่อเนื่องด้วย
ด้านสภาพคล่องของบริษัทในปัจจุบันยืนยันว่าไม่มีปัญหา หลังจากได้รับการยืดหนี้หุ้นกู้วงเงินคงเหลือกว่า 200 ล้านบาทออกไปอีก 1 ปี เป็นครบกำหนดในเดือน พ.ค.64 จากเดิมเดือน พ.ค.63 และการออกหุ้นกู้ชุดใหม่วงเงิน 280 ล้านบาทเมื่อเร็ว ๆ นี้มียอดจองเข้ามาอย่างล้นหลาม โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีอายุ 1 ปี 3 เดือน 3 วัน ขณะที่ยังมีเงินสดหรือสินทรัพย์ในมือเทียบเคียงเงินสดราว 100 ล้านบาท เมื่อรวมกับกระแสเงินสดที่จะเข้ามาในอนาคต และแผนการเพิ่มทุน รวมถึงการระดมทุนนำบริษัทในธุรกิจไฟฟ้าเข้าตลาดหุ้น ก็จะเพียงพอต่อการรองรับลงทุนและชำระหนี้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 63)
Tags: ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป, พลังงานทดแทน, วีระพล ไชยธีรัตต์, โรงไฟฟ้า