หลังพรรคร่วมรัฐบาลเห็นต่าง
รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณางบประมาณที่คณะอนุ กมธ.ฯ มีการปรับลดงบส่วนเกินของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะของคณะอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มีมติไม่ตัดลดงบการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือจำนวน 2 ลำ มูลค่ารวม 22,500 ล้านบาท โดยตั้งแต่ช่วงเช้า กมธ.ฯ ในสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาลนัดหารือนอกรอบกันก่อน หลังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นเงื่อนไขให้กองทัพเรือทบทวนงบประมาณดังกล่าว เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ
โดยมีรายงานว่า รัฐบาลจะขอเลื่อนการพิจารณากรณีดังกล่าวเพื่อลงมติออกไปเป็นวันที่ 28 ส.ค.นี้ เนื่องจากกระแสในพรรคร่วมรัฐบาลยังแตกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งส่วนหนึ่งไม่ต้องการอนุมัติงบเรือดำน้ำ แต่นายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงความจำเป็น ทำให้ กมธ.ฯ ในสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวเครียดและเป็นกังวลต่อเสียงสะท้อนจากประชาชน
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ปชป. ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ กล่าวว่า กมธ. 7 คนในสัดส่วน ปชป.ยังคงมีท่าทีไม่สนับสนุนการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยอาจจะงดออกเสียง วอล์คเอ้าท์ หรือไม่เข้าประชุม แต่อาจจะไม่โหวตสวน หากรัฐบาลยังยืนยันให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำคงต้องหารือกันว่า จะดำเนินการในทิศทางใด โดยจะรออนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ ชี้แจงก่อน ถ้ายังมีประเด็นข้อสงสัยก็ต้องเลื่อนลงมติเพื่อรอให้ส่วนราชการมาชี้แจงเพิ่มเติม
ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ ที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ยืนยันว่าจะเสนอให้ กมธ.ชุดใหญ่ทบทวนการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวในช่วงบ่ายวันนี้
ช่วงบ่ายที่ประชุม กมธ.ยังไม่เข้าสู่วาระการลงมติเรื่องงบจัดซื้อเรือดำน้ำ เนื่องจากมีการพิจารณารายงานของอนุ กมธ.ฝึกอบรมสัมมนา ประชาสัมพันธ์ฯ ในส่วนของงบกองทุนประกันสังคม 15,000 ล้านบาท ตามที่สำนักงานประกันสังคมยื่นอุทธรณ์ โดยใช้เวลานาน แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากกังวลว่าหากพิจารณาให้ผ่านงบประมาณดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 โดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ เสนอให้อนุกมธ.กลับไปทบทวนรายงานใหม่ แล้วนำกลับมารายงานต่อที่ประชุมพร้อมกับกมธ.ที่เหลือ จากนั้นจึงเสนอญัตติให้ปิดประชุมทันที
ด้านนายยุทธพงศ์ ระบุว่า ขอเสนอญัตติให้ประชุมต่อ เพราะการจะขอเลื่อนการพิจารณาต้องมีเหตุผล ปกติการประชุมจะเลิกเวลา 22.00 น. ขณะนี้เพิ่งพิจารณาไปไม่ถึงครึ่ง มีเหตุผลอะไรให้เลื่อน ทำให้บรรยากาศที่ประชุมเริ่มตึงเครียด
นายวราเทพ รัตนากร รองประธาน กมธ. คนที่ 3 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ไกล่เกลี่ยว่า ถ้าจะให้เลื่อนการประชุม ควรเลื่อนเฉพาะรายงานของอนุ กมธ.ที่มีปัญหาอย่างเดียว ไม่ควรใช้วิธีปิดประชุม จากนั้นนายวราเทพขอพักประชุม 10 นาที ในเวลา 16.25 น.
ภายหลังกลับมาประชุมใหม่นายสัมพันธ์ กล่าวว่า หากที่ประชุมยังจะประชุมต่อ จะไม่ขออยู่ร่วมประชุมด้วย ขอถอนญัตติที่เสนอปิดประชุมเพื่อจะได้ไม่ลงมติ ทำให้ที่ประชุมยังดำเนินการพิจารณารายงานของอนุ กมธ.ฝึกอบรมสัมมนา ประชาสัมพันธ์ฯต่อไป แต่เปลี่ยนหัวข้ออุทธรณ์เรื่องประกันสังคมที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ มาเป็นการอุทธรณ์ของมูลนิธิปิดทองหลังพระแทน โดยยังไม่สามารถเข้าสู่วาระการพิจารณารายงานของกมธ.ครุภัณฑ์ฯที่จะพิจารณาเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ
ต่อมานายอัครเดช กล่าวว่า คงพิจารณาเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ทันวันนี้ เนื่องจากมีวาระค้างอยู่จำนวนมาก อีกทั้งกมธ.ฯ หารือนอกรอบแล้วเห็นว่า เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ มีความสำคัญจำเป็น ต้องเรียกกองทัพเรือมาชี้แจงให้ข้อมูลเพิ่มในวันที่ 28 ส.ค.ทั้งประเด็นเศรษฐกิจและความมั่นคง คาดว่า หลังจากที่ได้ซักถามข้อมูลเพิ่มเติมจากกองทัพเรือในวันที่ 28 ส.ค.แล้ว จะลงมติเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 63)
Tags: งบประมาณรายจ่าย, จัดซื้อ, พรรคประชาธิปัตย์, รัฐบาล, อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์, เรือดำน้ำ