นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุมวิชาการความสำเร็จของความร่วมมือในการแก้ปัญหาสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S.CDC) ภายใต้คำขวัญ “ไทย-สหรัฐรวมพลังสร้างสุขภาพ” 2Nations 2gether 4Health ว่า สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ไทยได้รับการสนับสนุน พัฒนา แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยา ช่วยดำเนินการเรื่องการติดตามผู้สัมผัส/ ผู้ป่วยร่วมกับกรมควบคุมโรค
และส่งทีมเจ้าหน้าที่ U.S.CDC มาทำงานร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พัฒนาระบบข้อมูล การติดตามผู้ป่วยและผู้สัมผัส และห้องปฏิบัติการ ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ และ กทม. พัฒนาระบบเฝ้าระวังและการรับมือสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งผู้ที่สำเร็จการฝึกอบรม FETP และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายไทย ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุขหลายคนได้มีส่วนสำคัญในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สามารถรับมือการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยเป็นผู้นำด้านความมั่นคงสุขภาพโลก
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยาภาคสนามแล้ว ยังมีความร่วมมือทางด้านการวิจัยและกิจกรรมความร่วมมือมากมาย เช่น เอชไอวี/เอดส์ โรคอุบัติใหม่ ไข้หวัดใหญ่ และโรคไม่ติดต่อ การปรับปรุงระบบการป้องกันและควบคุมโรคในประเทศไทย ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ซึ่งได้ถูกแปลไปเป็นนวัตกรรม และนำไปปรับใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกในอนาคตจะสานต่อความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองประเทศ เพื่อความมั่นคงความปลอดภัย และความมีสุขภาพดีของประชาชนทั้งสองประเทศ เสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ ด้านสาธารณสุขในภูมิภาคนี้
ด้านนายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U.S.CDC) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของประเทศไทยได้ร่วมดำเนินงานเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน โดยระดมนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากทั้งสองประเทศมาปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนชาวไทย ชาวอเมริกัน และประชากรของโลกมีความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น
ความสำเร็จนี้เกิดจากการแบ่งปันความรู้และวิธีการต่างๆ ซึ่งช่วยปรับปรุงและยกระดับประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจจับ และรักษาโรค การตอบโต้และรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้เป็นตัวอย่างอันเด่นชัดที่แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างทั้ง 2 ประเทศนั้นมีความสำคัญอย่างไรในการสร้างศักยภาพและเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นในการรับมือและตอบโต้การระบาดใหญ่ทั่วโลกในครั้งนี้ให้ประสบผลสำเร็จ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 63)
Tags: รับมือโควิด-19, สหรัฐ, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19, ไทย, ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี