บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ฉบับแรกต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 300,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 17.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เป็นผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุครบวงจรและครอบคลุมในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าในกลุ่มภาคธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบบุคคล-ส่งถึง-บุคคล (C2C) ภาคธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบธุรกิจ-ส่งถึง-บุคคล (B2C) และภาคธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบธุรกิจ-ส่งถึง-ธุรกิจ (B2B) บริษัทให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนผ่านเครือข่ายทั่วประเทศ
ทั้งนี้ พัสดุที่จัดส่งโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม สามารถจัดส่งได้ภายในวันเดียวกันหรือภายในวันถัดไป โดยพัสดุหลัก ได้แก่ สินค้าที่มีการสั่งซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ และผู้ค้าปลีกออนไลน์ พัสดุที่ส่งระหว่างบุคคล และพัสดุและเอกสารของบริษัทต่าง ๆ ปริมาณรวมของพัสดุที่จัดส่งประจำปีของบริษัทมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ตั้งแต่ปี 57 ถึงปี 62 เท่ากับ 134.9% และปริมาณพัสดุที่จัดส่งสูงกว่าผู้ให้บริการภาคเอกชนรายใหญ่สุดอันดับ 2 และอันดับ 3 ที่ 3.9 เท่า และ 11.0 เท่า ตามลำดับ (ไม่รวม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด)
การระดมทุนครั้งนี้ บริษัทมีวัตถุประสงค์นำเงินไปใช้ขยายเครือข่ายจัดส่งพัสดุด่วน โดยมีแผนการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ ได้แก่ การเช่าพื้นที่เพื่อเพิ่มจำนวนศูนย์คัดแยกพัสดุ จุดให้บริการ และศูนย์กระจายพัสดุแห่งใหม่ รวมถึงการซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการ เพื่อตอบสนองความต้องการของการบริการจัดส่งพัสดุด่วนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายจ่ายฝ่ายทุนในปี 63 ราว 450 ล้านบาท และปี 64 ราว 1,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะใช้รายจ่ายส่วนทุนดังกล่าวส่วนใหญ่เพื่อการเพิ่มจำนวนร้านรับส่งพัสดุและศูนย์กระจายพัสดุ
ส่วนเงินจากการระดมทุนที่เหลือจะใช้ชำระหนี้คืนแก่ธนาคาร และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ณ วันที่ 25 ส.ค.63 บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 890,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,780,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่เรียกชำระแล้วจำนวน 720,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,440,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท
ก่อนหน้านี้บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียน 770,000,000 บาท คิดเป็นจำนวน 1,540,000,000 หุ้น แบ่งจัดสรร 1,200,000,000 หุ้นเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (Right Offering) , จัดสรร 300,000,000 หุ้น เสนอขายประชาชนทั่วไป รวมถึงกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ผู้มีอุปการคุณ และผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง ส่วนอีก 40,000,000 หุ้น ใช้รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ (ESOP Warrants)
โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2563 มี บริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 907,200,000 หุ้น หรือคิดเป็น 63% หลังการเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนลงเหลือ 52.1% บมจ.วีจีไอ (VGI) ถือหุ้น 331,200,000 หุ้น หรือคิดเป็น 23% จะลดสัดส่วนเหลือ 19% ส่วนที่เหลือถือในนามบุคคล
อนึ่ง เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทที่จัดตั้งในประเทศไทย ประกอบกิจการลงทุนโดยการถือหุ้นในนิติบุคคลอื่น โดยมี Rosy Venus Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (เป็นบริษัทย่อยของ KLN ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง) ถือหุ้น 49% นายมาริษ ภักดีทวีวิวัฒน์ ถือหุ้น 49% และนายเกล็ดชัย เบญจอาธรศิริกุล ถือหุ้น 2.0%
ผลประกอบการของบริษัทในช่วงปี 60-62 บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบบุคคล-ส่งถึง-บุคคล (C2C) , แบบธุรกิจ-ส่งถึง-บุคคล (B2C) และแบบธุรกิจ-ส่งถึง-ธุรกิจ (B2B) เป็นหลัก โดยรายได้รวมในปี 60 อยู่ที่ 6,626.41 ล้านบาท, ปี 61 อยู่ที่ 13,565.35 ล้านบาท และปี 62 อยู่ที่ 19,781.93 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตของรายได้ต่อเนื่องตลอด 3 ปีมีสาเหตุหลักมาจากความนิยมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) เพิ่มขึ้น และการเพิ่มจำนวนจุดให้บริการ ยอดจัดส่งพัสดุของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 71 ล้านชิ้นในปี 60 เป็นมากกว่า 274 ล้านชิ้นในปี 62
สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 63 บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการเท่ากับ 10,200.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% จาก 9,442.06 ล้านบาทในงวด 6 เดือนแรกของปี 62 เป็นการเติบโตตามอุตสาหกรรม E-Commerce และการบริการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้บริษัทจัดส่งพัสดุมากกว่า 150 ล้านชิ้นเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มียอดจัดส่งพัสดุมากกว่า 130 ล้านชิ้น
ในด้านกำไรสุทธิ ปี 60 บริษัทมีกำไร 730.26 ล้านบาท, ปี 61 กำไร 1,185.10 ล้านบาท และปี 62 มีกำไร 1,328.55 ล้านบาท โดยอัตรากำไรสุทธิของปี 60, 61 และ 62 เท่ากับ 11%, 8.7% และ 6.7% ตามลำดับ
ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 63 บริษัทมีกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น 196.51 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.3% จาก 541.46 ล้านบาทในงวด 6 เดือนแรกของปี 62 มาที่ 737.97 ล้านบาท โดยอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 5.7% เป็น 7.2% ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 10,456.28 ล้านบาท หนี้สิน 7,905.15 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้น 2,551.14 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 บริษัทและบริษัทย่อยมีวงเงินกู้ยืมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นวงเงินกู้ยืมระยะสั้นรวมจำนวน 500.00 ล้านบาท แต่ไม่มียอดเงินกู้ยืมระยะสั้นคงค้าง
บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหลังหักเงินสำรองต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปี โดยจำนวนเงินปันผลที่จ่ายจะต้องไม่เกินกว่ากำไรสะสมของงบการเงินเฉพาะกิจการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 63)
Tags: IPO, Kerry, Kerry Express, SET, ตลาดหลักทรัพย์, ตลาดหุ้นไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, หุ้นไทย, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, เคแอลเอ็น โลจิสติคส์, เมย์แบงก์ กิมเอ็ง, โลจิสติกส์, ไอพีโอ