สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ธ.ค. 62 หดตัว -4.35%YoY, ทั้งปี หดตัว -3.7%
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 99.02 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.35% หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.13% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนธ.ค.62 อยู่ที่ 63.96% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ Hard Disk Drive การผลิตเพิ่มขึ้น 18.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นหลังจากการปิดฐานผลิตที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่ เม.ย. 2562 และความต้องการสินค้าในตลาดที่มีต่อเนื่อง ซึ่งผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีความจุสูงรองรับข้อมูลที่มีการเติบโตและสอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลาย
เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน การผลิตเพิ่มขึ้น 23.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการส่งออกไปกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดียที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งตลาดในประเทศ ตามความต้องการสินค้าเครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์ และการขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น
อาหารทะเลแช่แข็ง การผลิตเพิ่มขึ้น 13.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบปลาทูน่าปรับตัวลดลงจากปีก่อน อีกทั้งกุ้งในตลาดมีปริมาณมากผู้ผลิตจึงเร่งผลิตและเก็บเป็นสต็อกไว้รอจำหน่ายในช่วงถัดไป
เครื่องประดับแท้ การผลิตเพิ่มขึ้น 15.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าจี้ แหวน ต่างหู และกำไล ตามแผนการผลิตที่ปรับตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเดือนนี้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทั้งตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ
ปุ๋ยเคมี การผลิตเพิ่มขึ้น 77.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องทำให้การนำเข้าวัตถุดิบมีต้นทุนถูกลงผู้ผลิตมีส่วนต่างกำไรเพิ่มขึ้น จึงเร่งผลิตแล้วเก็บเป็นสต็อกไว้รอจำหน่ายในช่วงถัดไป
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมลดลง ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องยนต์ ลดลง19.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถาบันทางการเงิน มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และเงินบาทแข็งค่าทำให้การส่งออกลดลง
น้ำตาล การผลิตลดลง 21.39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีนี้การเปิดหีบล่าช้ากว่าปีก่อน (ปีก่อนเปิดหีบ 20 พ.ย. ปีนี้ 1 ธ.ค.) ด้วยสภาพอากาศแห้งแล้งไม่เอื้อต่อการปลูกอ้อย ส่งผลให้ค่าความหวานและปริมาณผลผลิตอ้อยลดลง
น้ำมันปาล์ม ลดลง 31.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากผลปาล์มออกสู่ตลาดน้อยจากสภาพอากาศแปรปรวน และผลกระทบจากการรณรงค์เลิกใช้น้ำมันปาล์ม เพื่อการบริโภค
น้ำมันปิโตรเลียม ลดลง 3.93% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงกลั่น 1 แห่ง ยังอยู่ระหว่างการหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่องจากเดือนก่อนและเริ่มทำการกลั่นตามปกติในช่วงหลังของเดือน
เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ลดลง 12.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเสื้อผ้าชั้นในสตรีและเด็กหญิง เป็นหลัก โดยลดลงจากตลาดในประเทศและส่งออก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าลดลง รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออก
ส่วนดัชนี MPI ในภาพรวมของปี 2562 ลดลง -3.7% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -3.8%
นายทองชัย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มาจากสถานการณ์การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง และการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว 0.3% ประกอบกับรัฐบาลได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ตัวเลขการลงทุนในการประกอบกิจการโรงงานทั้งปี 2562 มีมูลค่าสูงถึง 4.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 31.47% ส่งผลให้อุตสาหกรรมสำคัญมีดัชนีผลผลิตปรับตัวดีขึ้น
สำหรับแนวโน้มดัชนี MPI ในเดือน ม.ค.63 นายทองชัย กล่าวว่า มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นบวก เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ปรับตัวดีขึ้นเป็นสัญญาณที่ดีต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาข้างหน้า
“ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนเซ็นข้อตกลงการค้ากันแล้วเมื่อกลางเดือนม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะทำให้ภาคการผลิตของไทยดีขึ้น ทำให้รวมค่อยๆขยับดีขึ้น”
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2563 เห็นชอบมาตรการต่อเติมเสริมทุน SMEs สร้างไทย อาทิ สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) 20,000 ล้านบาท จาก SME Bank เพื่อช่วยลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ซึ่งมีสถานะปรับโครงสร้างหนี้แล้ว โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง เป็นสิ้นเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรือเพื่อเป็น SME เงินทุนหมุนเวียน ที่ขยายจากกลุ่ม SME ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย(S-Curve) โดยเพิ่ม กลุ่มที่เป็น Supply Chain และธุรกิจอื่น ๆ เข้ามา
ส่วนสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ ฝุ่น PM2.5 หรือการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน อาจส่งต่อผลความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
“สำหรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้น คาดว่าน่าจะส่งผลกระทบระยะสั้นต่อสินค้าที่มี Supply Chain ร่วมกันกับพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดในจีน เบื้องต้นก็จะมีอยู่ 2-3 อุตสาหกรรม คือ ยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์ แต่ต้องลงลึกในรายละเอียดอีกทีว่าจะกระทบต่อยี่ห้อสินค้าที่ผลิตในพื้นที่เหล่านั้นเท่าไหร่เพื่อประเมินผลกระทบที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่หากยืดเยื้อยาวนานจนต้องย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยก็อาจจะส่งผลดีต่อประเทศไทย เพราะเท่าที่ทราบตอนนี้บริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่นในเมืองอู่ฮั่นได้เรียกพนักงานกลับหมดแล้ว”
ทั้งนี้ สศอ.คาดการณ์ดัชนี MPI ปี 63 ไว้ที่ 1.5-2.5% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2-3%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 63)
Tags: ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, สศอ, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม