นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ ทั้งยอดรขายที่ดิน 950 ไร่ และรายได้จากการโอนที่ดินในสัดส่วน 60-70% ของมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ณ สิ้นปี 62 ที่มีอยู่ 2.58 พันล้านบาท แม้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะสามารถขายที่ดินได้ราว 116 ไร่ และมียอดโอนที่ดินเพียง 187 ไร่เท่านั้น หลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของนักลงทุนที่จะเข้ามาดูพื้นที่และโอนที่ดิน
“เรายังยืนเป้าการขายที่ดินปีนี้ 950 ไร่ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร แม้ครึ่งปีแรกอาจทำได้ไม่มากเพราะเป็นช่วงการศึกษาข้อมูล เจรจาต่อรอง อาจจะเลยเข้ามาในช่วงไตรมาส 3 ทำให้จะเห็นยอดพุ่งขึ้นมาในไตรมาส 3 และ 4 ช่วงนี้รัฐเปิดให้มีนักธุรกิจเริ่มทยอยเข้ามา ก็ทำให้มีโอกาสมากขึ้น” นายวิบูลย์ กล่าว
ขณะที่คาดการณ์รายได้สาธารณูปโภคปีนี้จะทำได้ระดับทรงตัวจากปีก่อน แม้ช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะหดตัวราว 3% เนื่องจากเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะกลับมาเปิดดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้รายได้สาธารณูปโภคฟื้นตัวกลับขึ้นมาในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งยังมีการเติบโตของการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน 5G เข้ามาช่วยเสริมด้วย
ส่วนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง (Yangon Amata Smart & Eco City :YASEC) ของเมียนมา ขณะนี้บริษัทได้ใบอนุญาตดำเนินการครบหมดแล้ว อยู่ในขั้นตอนเจรจากับลูกค้าทั้งจากไทย จีน และญี่ปุ่นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้แรงงานมาก คาดว่าการขายจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายลง
ขณะเดียวกัน บริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจาหาผู้ร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อป้อนลูกค้าในนิคมฯดังกล่าวด้วย โดยเบื้องต้นเจรจากับกลุ่มบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจไฟฟ้ากับกลุ่ม AMATA ในไทย และกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งมีศักยภาพด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า
สำหรับผลการดำเนินงานของ AMATA ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 437.9 ล้านบาท ลดลง 36.8% มีรายได้รวม 2.22 พันล้านบาท ลดลง 6.2% โดยในส่วนนี้เป็นรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 802.5 ล้านบาท ลดลง 16.8% หลังมีการโอนที่ดินเพียง 187 ไร่, รายได้ค่าสาธารณูปโภค 925.3 ล้านบาท ลดลง 3% และรายได้จากการให้เช่า 410.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% ขณะที่มียอดขายที่ดิน 116 ไร่ โดยมีสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) ราว 60% และยอดขายที่ดินราว 40%
ทั้งนี้ Backlog ณ สิ้นมิ.ย.63 อยู่ที่ราว 2.16 พันล้านบาท
อนึ่ง ปี 62 AMATA มีรายได้รวม 6.23 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.74 พันล้านบาท โดยมีการขายที่ดิน 867 ไร่ และโอนที่ดิน 648 ไร่
นายวิบูลย์ กล่าวว่า เป้าหมายการขายที่ดินในปีนี้ที่ 950 ไร่ จะมาจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี 200 ไร่ ,นิคมฯอมตะซิตี้ ระยอง 450 ไร่ และนิคมฯไทย-จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอมตะ ซิตี้ ระยอง จำนวน 300 ไร่ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้สามารถขายพื้นที่ได้เพียง 116 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นขายพื้นที่ในนิคมฯไทย-จีน 82-83 ไร่
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทต้องปรับตัวหันมาขายผ่านออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ช่วยกระตุ้นยอดขายได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการดูพื้นที่จริง อย่างไรก็ตามการที่มีพันธมิตร Holley Group จากจีน ก็ช่วยดึงลูกค้าเข้ามาได้เพิ่มเติมด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายมากขึ้น และรัฐบาลไทยเปิดให้นักธุรกิจทยอยเข้าประเทศ แม้จะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันแต่ก็เชื่อว่าจะช่วยให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามามากขึ้น แม้ยังมีความกังวลจากสถานการณ์การชุมนุมในประเทศในระดับหนึ่ง แต่หากไม่มีการขยายวงกว้างถึงขั้นรุนแรงก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากนัก
สำหรับสัดส่วนลูกค้าของกลุ่ม AMATA ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากจีน 70-80% ที่เหลือเป็นญี่ปุ่น ยุโรป และอื่น ๆ โดยสัดส่วนลูกค้าหลักเปลี่ยนจากกลุ่มญี่ปุ่นมาเป็นจีน หลังจากที่จีนและสหรัฐเริ่มมีปัญหาข้อพิพาททางการค้า ทำให้ผู้ประกอบการจากจีนย้ายฐานการผลิตออกมา ส่วนลูกค้าญี่ปุ่นในจีนจะย้ายไปลงทุนในเวียดนามเป็นหลัก
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนาพื้นที่นิคมฯอมตะซิติ ชลบุรี ส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ก็เป็นส่วนที่จะช่วยดึงลูกค้าเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมฯมากขึ้น โดยล่าสุดเตรียมพัฒนาโครงการ Amata Taipei Smart City หลังมองว่าไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านสินค้าเทคโนโลยีมาก ซึ่งสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้มหาศาลขณะที่มีพื้นที่ประเทศค่อนข้างจำกัด ทำให้เป็นโอกาสที่จะดึงลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย
โดยปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่รอการพัฒนากว่า 11,600 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่นิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี 8,000 ไร่ และนิคมฯอมตะซิตี้ ระยอง 3,600 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้เป็นนิคมฯไทย-จีน ราว 2,000 ไร่
ด้านการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อการขายที่ดินและรายได้ของบริษัทนั้น ล่าสุดบริษัทพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายลงทุนและค่าใช้จ่ายดำเนินงานในส่วนที่ไม่จำเป็นให้ได้มากกว่า 30% โดยปีนี้ตั้งงบลงทุนไว้ราว 5 พันล้านบาท ใช้ไปแล้วราว 2.4 พันล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินงานตั้งเป้าไว้ที่ 500 ล้านบาท ขณะที่ยังไม่มีการปรับลดพนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบันราว 270-280 คน รวมถึงยังได้ลดค่าเช่าในส่วนของโรงงานให้เช่าในพื้นที่นิคมฯราว 20% ระยะแรก 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าด้วย
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาพื้นที่นิคมฯในต่างประเทศ ปัจจุบันในส่วนของเวียดนามยังเป็นไปตามแผน โดยมีทั้งหมด 3 พื้นที่ ได้แก่ อมตะ ซิตี้ เบียนหัว , อมตะซิตี้ ลองถั่น และอมตะซิตี้ ฮาลอง ล่าสุดสามารถขายพื้นที่ได้ราว 10 เฮกตาร์ และยังอยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่ที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนด้วย
ส่วนการพัฒนาพื้นที่นิคมฯ YASEC ในเมียนมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 ก.ย.อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนรองรับการใช้พัฒนาโครงการดังกล่าวที่บริษัทได้รับอนุญาตให้ลงทุนพัฒนา YASEC ในระยะที่ 1 บนพื้นที่ทั้งหมด 2,000 เอเคอร์ หรือประมาณ 5,060 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.02 พันล้านบาท โดยได้ใบอนุญาตครบแล้ว รอช่วงจังหวะการพัฒนาโครงการและสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็จะเริ่มทำการตลาด ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 63)
Tags: AMATA, นิคมอุตสาหกรรม, วิบูลย์ กรมดิษฐ์, อมตะ คอร์ปอเรชัน