นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.จะทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้ามา เช่น มาตรฐานการตรวจแล็บ ซึ่งกองระบาดวิทยากำลังดำเนินการสอบสวนโรค เพื่อวางระบบให้มีความปลอดภัยมากขึ้น หลังจากพบชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ตรวจพบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เป็นชายสัญชาติกาตาร์ อายุ 71 ปี ระหว่างเข้ามาพักในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine:ASQ) ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อรอเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งตับต่อเนื่อง โดยเดินทางเข้ามาพร้อมกับบุตรชาย ซึ่งผลการตรวจก่อนเดินทางเข้ามาไม่พบเชื้อทั้งสองราย
“กรณีนี้ก็คล้าย State Quarantine หลายครั้ง พบคนไทยที่เดินทางกลับมา ตรวจครั้งแรกไม่เจอแต่มาเจอครั้งหลัง ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย”
นพ.ธเรศ กล่าว
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า เมื่อมีผลตรวจไม่ตรงกันก็จะมีการกักตัวไว้ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย และจะไม่อนนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ควบคุม ขอยืนยันว่าต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการนี้ทั้ง 166 รายมีการกักตัวทั้งหมด โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ หากละเมิดจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ, พ.ร.บ.สถานพยาบาล
พร้อมทั้ง ยืนยันว่ามาตรการคัดกรองคนไข้ต่างชาติเข้ามารับการรักษาตามนัดในประเทศไทยตามโครงการ Medical & Wellness Program นั้นมีความเคร่งครัดและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนดไว้เมื่อวันที่ 31 ก.ค.63 โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับแรก
โดย ศบค.ผ่อนปรนให้ต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามารับการรักษาอาการป่วย พร้อมผู้ติดตามจำนวนไม่เกิน 3 ราย ต้องไม่ติดเชื้อโควิด-19 โดยมีผลตรวจ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามา, ใบรับรองสถานะการเงิน, กรมธรรม์ประกันรักษาโควิด-19 เป็นต้น แล้วต้องพักในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine:ASQ) เดียวกันไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีต่างชาติเดินทางเข้ามาตามโครงการนี้แล้ว 166 ราย แยกเป็นผู้ป่วย 90 ราย พร้อมผู้ติดตาม 76 ราย และกำลังจะมีผู้ป่วยรอคิวทยอยเดินทางเข้ามาอีก 423 ราย พร้อมผู้ติดตาม 250 ราย โดยมีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการนี้ 98 แห่ง และคลินิกอีก 26 แห่ง
และในระยะต่อไปกำลังพิจารณาขยายการให้บริการด้านสุขภาพ ได้แก่ การกักตัวในรูปแบบของ Villa Quarantine สำหรับกลุ่มสปา และนวดเพื่อสุขภาพ
“หลักการสำคัญของการผ่อนปรนครั้งนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมนุษยธรรม ซึ่งดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น”
นพ.ธเรศ กล่าว
ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการติดเชื้อนาน 3 เดือนแล้ว ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดในต่างประเทศยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยประเทศในกลุ่มละตินอเมริกามีอัตราการป่วยสูง และสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกสองที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงและรวดเร็วมากกว่ารอบแรก
“ถึงแม้การล็อกดาวน์จะช่วยหยุดการแพร่ระบาดลดลง แต่หากร่วมมือกันจะช่วยชะลอการแพร่ระบาดได้ดี”
นพ.ธนรักษ์ กล่าว
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับช่วงวันหยุดยาวชดเชยเทศกาลสงกรานต์ 4-7 ก.ย.ที่จะถึงนี้ ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการกวดขันดูแลมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การคัดกรองอุณหภูมิของพนักงานและผู้ใช้บริการ การลดความแออัด การสวมหน้ากากอนามัย การบันทึกประวัติการเข้า-ออก หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 63)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ต่างชาติ, ธนรักษ์ ผลิพัฒน์, ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์, รักษาโควิด, โควิด-19