กองบัญชาการกองทัพเรือ (ทร.) ระบุว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำกับทางการจีนจำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาทภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยแถลงย้ำความจำเป็นในการขยายกองเรือดำน้ำของไทยในการปกป้องทรัพย์สินของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก
แต่จะชะลอการจ่ายเงินงวดแรก 3,375 ล้านบาทที่กำหนดจ่ายในปีนี้ออกไป เพื่อนำไปสมทบกับงบประมาณส่วนอื่นให้กับรัฐบาลรวมกว่า 4 พันล้านบาทนำใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาของประเทศตามความจำเป็นก่อน
พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ กล่าวว่า ในทะเลจีนใต้ทั้งหมู่เกาะสแตนลีย์และหมู่เกาะพาราเซล มีหลายชาติประกาศตัวความเป็นเจ้าของ เช่น จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ เป็นเหตุที่อาจทำให้เกิดการปะทะกัน เช่น กรณีเรือทางการจีนชนกับเรือเวียดนาม ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้ส่งกองกำลังทางอากาศและทางเรือเข้าไปในทะเลจีนใต้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีศักยภาพทางการทหารในทะเลเพื่อปกป้องทรัพย์สินและอธิปไตยของประเทศ
“หากเกิดการปะทะกันในพื้นที่ทะเลจีนใต้ นี่คือเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย เส้นทางคมนาคม เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย 24 ล้านล้านบาทจะมีปัญหา ถ้าเราไม่มีกำลังที่เข้มแข็ง ผลประโยชน์ของชาติ 24 ล้านล้านบาทกระทบแน่…เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้มีการใช้อาวุธต่อกันหลายครั้งหลายหน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการปะทะกัน ผมเชื่อว่ามีแต่จะมีในเวลาอันใกล้หรือไกลต้องประเมินกันต่อไป
..ย้อนกลับเข้ามาในพื้นที่ JDA พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย มูลค่า 3 แสนกว่าล้านบาทต่อปี จะสิ้นสุดสัญญาปี 2572 กองทัพเรือลงนามจัดซื้อเรือดำน้ำวันนี้ได้รับปี 70 ซึ่งการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ของชาติถ้าไม่มีกำลังที่เข้มแข็ง อำนาจการต่อรองของเราจะมีมากหรือน้อยอย่างไร”
พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ การที่กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ วงเงิน 2.25 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าในการปกป้องผลประโยชน์ในทรัพยากรทางทะเลของไทยที่มีกว่า 24 ล้านล้านบาท คิดเป็นแค่ 0.093% เท่านั้น ซึ่งกองทัพเรือได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และมีความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจและทางด้านยุทธการและความมั่นคงอย่างเต็มที่
ขณะที่ พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ ชี้แจงว่า โครงการจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท โดยมีการจัดหาลำที่ 1 ไปแล้วในปีงบประมาณ 2560 มูลค่า 13,500 ล้านบาท ทยอยจ่าย 7 ปี ระหว่างปี 60-66
จากนั้นจะต้องจัดหาอีก 2 ลำให้ครบ 3 ลำตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งไม่ใช่การผูกพันงบใหม่ โดยเป็นรายการเสริมสร้างกำลัง กองทัพ โดยทยอยตั้งงบประจำปีตามกรอบที่เคยได้รับการอนุมัติไว้ ไม่ได้ของบเพิ่มเติม ซึ่งงบส่วนนี้ได้บรรจุไว้ในงบประมาณปี 63 แล้ว กำหนดให้จ่ายในปีนี้ 3,375 ล้านบาท, ปี 64 จ่าย 3,925 ล้านบาท, ปี 65 จ่าย 2,640 ล้านบาท, ปี 66 จ่าย 2,500 ล้านบาท, ปี 67 จ่าย 3,060 ล้านบาท, ปี 68 จ่าย 3,500 ล้านบาท และ ปี 69 ตั้งไว้ 3,500 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 22,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดรัฐบาลได้ขอให้ทุกส่วนราชการพิจารณณาคืนงบประมาณเพื่อโอนคืนไปใช้แก้ปัญหา จึงได้ประสานขอคืนงบประมาณก้อนแรกปี 63 ที่ตั้งไว้แล้ว 3,375 ล้านบาท ถือเป็นการชะลอโครงการและนำไปรวมกับงบประมาณอื่นๆ ที่กองทัพเรือสามารถปรับลดลงได้ รวมเป็นงบประมาณที่กองทัพเรือโอนคืนให้รัฐบาลนำไปใช้แก้ปัญหาโควิด 4,130 ล้านบาท จากเหตุดังกล่าวทำให้กองทัพเรือต้องปรับปรุงเนื้อหาใหม่ โดยมีกำหนดลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐภายในเดือน ก.ย.นี้
“การจัดทำงบของกองทัพเรือเป็นไปตามหลักการ มีขั้นตอน ทำโดยความรอบคอบและยึดหลักความประหยัด ตระหนักถึงคุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นเงินงบประมาณของประเทศชาติ และตั้งงบประมาณใช้จ่ายภายในกรอบงบประมาณของเราที่เคยได้รับโดยประมาณมาทุกปี
ในปีนี้ปีงบประมาณ 64 เรามีโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ผูกพันงบประมาณเริ่มใหม่เพียงโครงการเดียวคือการจัดหาเรือลากจูง 1 ลำ มูลค่า 366 ล้านบาท เป็นงบที่ตั้งไว้ในปี 64 จำนวน 73 ล้านบาท หากนำไปรวมงบจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ จะเป็นจำนวน 3,925 ล้านบาท…สำหรับการจัดทำรายการผูกพันเริ่มใหม่ จำนวนเงินงบประมาณ 22,500 ล้านบาท เป็นการทยอยจ่ายใน 7 ปี ปีละ 2-3 พันล้านบาท โดยใช้งบประมาณภายในกรอบงบประมาณตามปกติ ไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมทำให้ต้องตัดรายจ่ายงบจัดซื้อยุทโธปกรณ์อื่นลง”
พล.ร.ท.ธีรกุล กล่าว
ด้านนาวาเอกธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ชี้แจงกรณีที่ว่าการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 1 ไม่ถูกต้องและไม่มีกฎหมายรองรับ โดยยืนยันว่า กองทัพเรือได้ศึกษาและเสนอแนะต่อรัฐบาล กระทั่งในวันที่ 18 เม.ย.60 ครม.มีมติเห็นชอบจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ สืบเนื่องมาจากกองทัพเรือตระหนักถึงความจำเป็นของเรือดำน้ำ และพบว่าข้อเสนอของจีนนั้นดีที่สุด และอนุมัติการจัดหาเรือดำน้ำในปี 59
ส่วนที่บอกว่าเป็นการทำสัญญา G to G ปลอม เป็นการให้ข้อมูลเท็จ เนื่องจาก ครม.มีมติอนุมัติและอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารเรือ อนุมัติให้ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และเสนาธิการทหารเรือเป็นผู้แทนในการลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลจีน จึงยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความถูกต้อง พิจารณารอบคอบตามระเบียบวิธีราชการทุกประการ
ขณะที่รัฐบาลจีนสั่งการให้หน่วยงาน SASTIND ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐของจีนสำหรับการบริหารงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการส่งออกอาวุธ มอบอำนาจให้บริษัท CSOC และมอบอำนาจให้ประธานบริษัท CSOC มาลงนามแทน ดังนั้น ผู้ที่มาลงนามของฝ่ายจีนได้รับมอบอำนาจมาอย่างชัดเจน จึงเป็น G to G ของจริง
ด้าน พล.ร.ต.อรรถพล เพชรฉาย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ กล่าวตอนท้ายว่า หากไม่สามารถซื้อได้ในปีงบประมาณ 2564 ก็ไม่มีค่าปรับอะไร แต่เกรงว่าจะเกิดปัญหาเรื่องราคาที่อาจจะสูงขึ้นมาก ตลอดจนจะกระทบความน่าเชื่อถือในเชิงพาณิชย์ ทั้งที่ไทยจะได้แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 63)
Tags: กองทัพเรือ, งบประมาณรายจ่าย, ธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล, ธีรกุล กาญจนะ, อรรถพล เพชรฉาย, เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์, เรือดำน้ำ