ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เยาวชนปลดแอก กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice)
ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 11,579 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,812 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 – 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 ระบุ ความเห็นต่อ เยาวชนปลดแอก ว่า ควรรวมพลัง ปลดแอก ไม่ยอมให้ต่างชาติ แทรกแซง สร้างปั่นป่วน ทำคนในชาติแตกแยก
รองลงมาคือ ร้อยละ 90.0 ระบุ ปลดแอกจาก การถูกรังแก คุกคามในห้องเรียน ในโรงเรียน ในชุมชน และร้อยละ 80.6 ระบุ ร่วมกันปลดแอก แจ้งหน่วยงานรัฐ เป็นหูเป็นตา ใช้โซเชียล เปิดโปง รักษาความมั่นคงชาติ และความสงบสุขของบ้านเมือง
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.1 ระบุความต้องการให้ คนไทยทุกคน มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง รองลงมาคือร้อยละ 97.2 ต้องการให้คนไทยทุกคนมีงานทำ มีอนาคตดี มั่นคง ร้อยละ 96.9 ต้องการให้คนไทยสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ปกป้องเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ ร้อยละ 96.7 ต้องการให้คนไทยเป็นพลเมืองที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีต่อกัน ใครไม่ดีต้องจัดการให้เห็น และร้อยละ 96.2 ต้องการให้คนไทย มีระเบียบ ยึดหลักคุณธรรม มีวินัย
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.4 เห็นด้วยกับความต้องการกฎหมายดูแลเด็กนักเรียนตั้งแต่เข้าเรียน จนถึง มีงานทำ ในขณะที่ร้อยละ 8.6 ไม่เห็นด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า ผลการสำรวจพบข้อมูลที่น่าพิจารณาคือ จำนวนผู้ใช้โซเชียลเฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานในวันม็อบ 16 สิงหาคม จำนวน 368,453 ผู้ใช้งานเฉพาะภายในประเทศไทย แต่ถ้านำข้อมูลรวมต่างชาติเข้ามาวิเคราะห์ด้วยมีถึงจำนวน 18,416,480 ผู้ใช้งาน
นอกจากนี้ข้อสังเกตที่ค้นพบอีกประการหนึ่งคือ ประเทศไทยมีจำนวนเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 12 – 24 ปีทั่วประเทศจำนวน 11,056,769 คน อ้างอิงจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2562 จึงเห็นได้ว่า กลุ่มเคลื่อนไหว “เยาวชนปลดแอก” ในโซเชียลจำนวน 368,453 ผู้ใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 3.33 เท่านั้นซึ่งยังต้องแยกกลุ่มผู้ใหญ่ที่เข้ามาผสมโรงออกไปอีกในโอกาสต่อไป
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องเอาข้อมูลการเคลื่อนไหวของประชาชนในโลกโซเชียลมาวิเคราะห์อย่างจริงจังมากกว่าเชื่อไปตามภาพลวงตาที่ถูกขบวนการทั้งคนไทยและต่างชาติร่วมกันปั่นกระแสให้บ้านเมืองสั่นคลอนกันในเวลานี้ แต่ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองยึดหลักสกัดคนไม่ดีออกไปอย่าให้เด็กและเยาวชนเห็นว่าท่านปากว่าตาขยิบ รี่ตาข้างหนึ่ง หรือปล่อยไปตามน้ำ เพราะโลกยุคซูเปอร์ดิจิทัล Super Digital มันยากที่จะเอาใบบัวปิดช้างทั้งตัว
“ขอให้ทุกคนช่วยกันเอาความต้องการของประชาชนเป็นเป้าหมายและเร่งทำให้ได้ตรงเป้าความต้องการของประชาชนที่ค้นพบในข้อมูลสำรวจครั้งนี้คือ ต้องการกฎหมายที่ช่วยเด็กนักเรียนฟรีตั้งแต่เข้าเรียนจนถึงมีงานทำ ที่คนไทยในประเทศส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า มีกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นแล้วและดูแลเด็กยากจนพิเศษมากถึง 7-8 แสนรายทั่วประเทศที่ฝาบ้านไม่ครบ 4 ด้านเรียนฟรี ดูแลพ่อแม่ผู้ปกครองให้มีทักษะอาชีพมีงานทำ และกำลังขยายต่อยอดเรียนถึงปริญญาตรีและมีงานทำมั่นคง ทำไมสังคมไม่เอาสิ่งดี ๆ เหล่านี้มาแบ่งปัน มั่วแต่เอาเรื่องเลวร้ายมาปั่นอารมณ์เด็กและเยาวชนกัน ทำแต่เรื่องร้าย ๆ ให้บ้านเมืองและแผ่นดินนี้ไปเพื่ออะไรและเพื่อใคร ขอให้ประชาชนเด็กเยาวชนและสื่อมวลชนช่วยคิดกันดู”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 63)
Tags: SUPER POLL, การเมือง, ซูเปอร์โพล, นพดล กรรณิกา, เยาวชนปลดแอก, โพล