สศค.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือโต 2.8% จากเดิมคาด 3.3% หลังมองส่งออกอาจโตแค่ 1% จากเดิม 2.6%
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 ลงเหลือเติบโต 2.8% จากเดิมคาดไว้ว่าจะเติบโตราว 3.3% เนื่องจากมองว่าส่งออกจะเติบโตได้เพียงเล็กน้อยที่ 1% จากเดิมคาดไว้ราว 2.6%
ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะยืดเยื้อไปมากน้อยเพียงใด
สำหรับในปี 62 ที่ผ่านมา GDP ของไทยเติบโตเพียง 2.5% น้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.8% เนื่องจากการส่งออกในปีที่ผ่านมาหดตัวถึง -2.7% จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์จะมีความชัดเจนมากขึ้นในระยะต่อจากนี้
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปี 63 จะฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากปี 62 จากปัจจัยบวกที่ภาวะการค้าโลกมีทิศทางดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภายในประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชนจะกลายมาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากตต่างประเทศเป็นสิ่งที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ แต่จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเหมาะสมในการออกมาตรการเพื่อรับมือ
“ที่ผ่านมาได้ทำไปแล้ว คือ มาตรการกระตุ้น SME และมาตรการกระตุ้นการลงทุนที่ทำได้เร็ว และเชื่อว่าจะเป็นยาแรงในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ผ่าน”ชิม ช้อป ใช้” เฟส 4 ขณะนี้กำลังพิจารณาในรายละเอียดอยู่ เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ และจะช่วยการกกระตุ้นในประเทศไม่ให้สะดุด” นายลวรณ กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานั้น คาดว่าน่าจะจบไม่เกิน 3 เดือน ถ้าจบภายในไม่เกิน 3 เดือนจะไม่กระทบการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยมากนัก พร้อมเชื่อมั่นในมาตรการของการท่องเที่ยว ที่จะออกมาดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยคาดการณ์ยอดนักท่องเที่ยวทั้งปี 63 จะหายไปประมาณ 4 แสนคน
“จีนจะลดลงไปเยอะ แต่จะมีนักท่องเที่ยวจากอินเดียเข้ามาเพิ่ม โดยเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีอยู่ที่ 41 ล้านคน”
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ เรื่องความล่าช้าของงบประมาณปี 63 ซึ่งคาดว่าจะล่าช้ากว่ากำหนด 2 เดือนเพราะติดขั้นตอนกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อภายในเดือนมี.ค.63 จะมีความชัดเจนและมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ
ส่วนปัจจัยบวก การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ คลี่คลายไปในทิศทางดีขึ้น การลงทุนเอกชนน่าจะดีขึ้นหลังภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนออกไป รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเริ่มเห็นผลชัดเจน ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนเดินหน้าลงทุนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเงินบาทที่เริ่มปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยบวกให้กับเศรษฐกิจไทยด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 63)
Tags: GDP, สศค, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจไทย