นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีกำหนดเข้าร่วมประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ผ่านระบบการประชุมทางไกลในช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค.นี้
โดยการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นการประชุมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคของสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ซึ่งพัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2555 โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี และครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3
การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ “การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” โดยมีนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วม และผู้เข้าร่วมการประชุมได้แก่ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งที่ประชุมจะมุ่งเน้นการทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคง เพื่อความยั่งยืนร่วมกัน
พร้อมรับฟังแนวทางการดำเนินนโยบายจากผู้นำของประเทศสมาชิก ที่จะแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันผ่านการรับรองเอกสารผลลัพธ์ 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 และ 2.ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการทำงานร่วมกันและสอดคล้องกันระหว่างกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง กับระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยจะใช้โอกาสนี้ ย้ำเจตนารมณ์ในการสนับสนุนหลักพหุภาคีนิยม ชื่นชมความก้าวหน้าของความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยมีประเด็นที่มีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่
- ด้านการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ เช่น การสนับสนุนให้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง
- ด้านการยกระดับความร่วมมือด้านสาธารณสุข ที่ไทยให้ความสำคัญกับความพร้อมของบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ ความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยา ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกับนานาชาติ
- ด้านการยกระดับความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค ผ่านความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งกายภาพ กฎระเบียบ และประชาชน ซึ่งไทยยินดีที่จะเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลและความมั่นคงทางสาธารณสุขควบคู่กัน
- ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 (Post Covid-19 Economic Recovery) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) พร้อมช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสมาชิก
นายอนุชา ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอาจจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำแต่ละประเทศ เพื่อทำให้ทุกประเทศได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี จะเน้นในเรื่องของสาธารณสุขโดยเฉพาะความร่วมมือของไทยและจีนที่จะไม่ใช่แค่การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แต่จะร่วมพัฒนาวัคซีนในโรคอื่น ๆ ด้วย พร้อมผลักดันวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 ให้เป็นในลักษณะการดูแลสุขอนามัยและให้ทุกคนเข้าถึงได้ด้วย ไม่มองเป็นเรื่องธุรกิจ
จากนั้น นายกรัฐจะเดินไปลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม/โลจิสติกส์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะโครงการเส้นทางมอเตอร์เวย์ เส้นทาง พัทยา-มาบตาพุต ก่อนจะตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่มีศูนย์ปฎิบัติการในภาวะฉุกเฉิน การเยี่ยมชมจุดคัดกรอง เพื่อความพร้อมรองรับการเปิดท่องเที่ยวจากต่างประเทศในวงจำกัด (Travel Bubble) ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมตลาด 100 เสาและปล่อยพันธุ์ปูลงสู่ทะเล และร่วมการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.)นอกสถานที่อย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ส.ค.
ทั้งนี้ นายอนุชา ระบุว่า ยังไม่มีกำหนดที่จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาในระหว่างลงพื้นที่ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีหลายภารกิจในเวลาที่จำกัด ขณะที่เรื่องของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับภูมิภาคขอไปตรวจสอบรายละเอียดความคืบหน้าก่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 63)
Tags: ประชุมทางไกล, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อนุชา บูรพชัยศรี, เศรษฐกิจ, แม่โขง-ล้านช้าง