องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำคู่มือแนะนำทางคลินิกชั่วคราวสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงที่พักรักษาตัวที่บ้านซึ่งต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV)
WHO ระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว การดูแลทางคลินิกสำหรับผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ควรจะให้ความสำคัญกับการตระหนักถึงอาการป่วยก่อน และให้แยกตัวผู้ป่วยออกไปในทันที ตลอดจนใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (IPC) ที่เหมาะสม และให้การดูแลรักษาที่ดีที่สุด
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล คู่มือแนะนำได้ระบุขั้นตอนที่แพทย์ควรและไม่ควรทำ เริ่มจากการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARI) ที่จุดคัดกรองแรก
จากนั้น ให้ปฏิบัติตามมาตรการ IPC ที่เหมาะสมและให้การรักษาแบบประคับประคองในช่วงแรก นอกจากนี้ แนวปฏิบัติยังได้แนะนำให้เก็บรวบรวมตัวอย่างเพื่อนำไปวินิจฉัยในห้องแล็บ รักษากลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) และป้องกันภาวะแทรกซ้อน ขณะเดียวกัน ก็แนะนำให้ทำการรักษาด้วยการต้านทานไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะ และให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์
สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงที่พักรักษาตัวที่บ้านนั้น WHO แนะนำให้จำกัดจำนวนคนที่ดูแลผู้ป่วย ใช้พื้นที่ร่วมกันให้น้อยที่สุด และสวมใส่หน้ากากอนามัยที่พอดีกับใบหน้า รวมถึงการล้างมือให้สะอาดหลังการสัมผัสที่เกี่ยวกับผู้ป่วยทุกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำอีกมาก
เนื่องจากยังมีเรื่องที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับไวรัสดังกล่าวอีกมาก ทาง WHO จึงเปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลทางคลินิกสำหรับไวรัส 2019-nCoV ทั่วโลก (Global 2019-nCoV Clinical Data Platform) เพื่อให้สมาชิกแบ่งปันข้อมูลทางคลินิกแบบไม่ต้องระบุตัวตน เพื่อแจ้งวิธีการรับมือด้านคลินิกสาธารณสุข
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 63)
Tags: WHO, องค์การอนามัยโลก, โรคปอดอักเสบ, โรคระบาด, ไวรัส, ไวรัสโคโรนา