สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ บมจ.พีบี. สมาร์ทฟาร์เมอร์ (PB Smart Farmer) และนายวิชาญ เมฆพายัพ ประธานกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจของบริษัท ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) กรณีไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบ Filing) ต่อ ก.ล.ต.
ตามที่ ก.ล.ต. ได้ออกข่าวเตือนประชาชนก่อนหน้านี้ให้ใช้ความระมัดระวังหากถูกชักชวนให้ลงทุนในหุ้น PB Smart Farmer ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในประเทศไทย และไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนดเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน โดย ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนในหุ้นบริษัทดังกล่าวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและการจัดสัมมนา
ก.ล.ต. ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า PB Smart Farmer ซึ่งมีนายวิชาญ เป็นประธานกรรมการบริหารและเป็นผู้มีอำนาจของบริษัทได้ชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนในหุ้นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก PB Smart Farmer และ แอปพลิเคชันไลน์ รวมทั้งจัดให้มีการสัมมนาชักชวนประชาชนในวงกว้างให้ลงทุนซื้อหุ้น PB Smart Farmer โดยเปิดให้จองหุ้นตามแพ็คเกจการลงทุน เริ่มต้นที่ 1,000-1,000,000 บาท
โดยอ้างว่าจะจ่ายเงินปันผลให้ 5% ทุกสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 95 สัปดาห์ และหากผู้ลงทุนที่เป็นสมาชิกสามารถชักชวนบุคคลอื่นมาลงทุนเพิ่มจะได้ค่าตอบแทนส่วนเพิ่มในลักษณะโบนัสขยายเครือข่าย (ค่าแนะนำ) ในอัตรา 10% และจ่ายโบนัสทีม (ค่าจับคู่) ในอัตรา 5% เมื่อลงทุนครบ 95 สัปดาห์แล้ว PB Smart Farmer จะออกใบหุ้นสามัญให้แก่สมาชิก
การดำเนินการของ PB Smart Farmer และนายวิชาญ เข้าข่ายเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญต่อประชาชนโดยไม่ได้ยื่นแบบ Filing ต่อ ก.ล.ต. ก่อนการเสนอขาย เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 65 และมาตรา 300 และมีระวางโทษตามมาตรา 276 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษผู้กระทำผิดทั้งสองรายดังกล่าวต่อ ปอศ.
ก.ล.ต. ขอเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังหากถูกชักชวนให้ลงทุนโดยอ้างว่าสามารถให้ผลตอบแทนในระดับที่สูง และควรตรวจสอบว่าผู้ที่ชักชวนเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กรณีที่เป็นการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนจะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และ/หรือต้องยื่นแบบ Filing ก่อนการเสนอขาย
นอกจากนี้ การจ่ายเงินปันผลในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะพึงจ่ายได้ อาจเป็นการจ่ายจากเงินที่ได้จากผู้ร่วมหุ้นรายใหม่ ซึ่งการกระทำลักษณะนี้อาจทำได้ไม่ต่อเนื่องในระยะยาว และยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายทางการเงินฉบับอื่นอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 63)
Tags: ก.ล.ต., ตลาดหุ้น, ปอศ., พีบี. สมาร์ทฟาร์เมอร์, วิชาญ เมฆพายัพ