นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ในปี 63 จะต่ำกว่าระดับ 2.2 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะลดลงเป็นตัวเลขสองหลัก (2 digit) หลังจากที่ในครึ่งแรกปีนี้รายได้จากการขายหดตัวลง 26.4% มาที่ 8.25 แสนล้านบาท เนื่องจากปริมาณและราคาขายผลิตภัณฑ์ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมัน และสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีลดลง
ส่วนแนวโน้มครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้นจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศระหว่างงเดือน เม.ย.-พ.ค. โดยราคาน้ำมันดิบดูไบมีทิศทางที่ดีขึ้นจาก 40.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนด้วย
ขณะที่ค่าการกลั่น (GRM) มีแนวโน้มีดีขึ้นตามความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนราคาผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์มีทิศทางที่ดีขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีกำลังผลิตใหม่จากมาเลเซียและจีนเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ยังอ่อนแอจากอุปสงค์ที่ยังชะลอตัว ท่ามกลางกำลังผลิตใหม่ของจีนที่จะเข้ามาในช่วงปลายปีนี้
ทั้งนี้ นายอรรถพล ประมาณการว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยดูไบในปีนี้จะอยู่ที่ 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับเฉลี่ย 63.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว ค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์คาดว่าอยู่ที่เฉลี่ย 0.5-1.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ คาดว่าจะลดลง 10-15% จากปีก่อน และราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ ลดลง 25-30% จากปีที่แล้ว
“ครึ่งปีหลังแนวโน้มสภาพเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าช่วงโควิด ผลกระทบจาก stock loss น่าจะไม่มากนักในครึ่งปีหลัง เพราะเราเจอ stock loss แรงเพราะในช่วงต้นปีราคาน้ำมันสูงก็ลงมาเหลือ 10-20 เหรียญ ตอนนี้กลับไป 40 เหรียญ ราคาน่าจะอยู่ระดับนี้ ฉะนั้น ผลกระทบจาก stock loss ไม่น่าจะมีมากในครึ่งปีหลัง ครึ่งปีแรกได้แล้วหมื่น ครึ่งหลังดูแล้วแนวโน้มดีกว่า ผลประกอบการก็จะมาจากปริมาณการขายและมาร์จิ้น” นายอรรถพล กล่าว
สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ ปตท.มีกำไรสุทธิ 1.05 หมื่นล้านบาท ลดลง 81% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรงทำให้ทั้งกลุ่มปตท.มีผลขาดทุนจากสต็อกเป็นจำนวนมาก
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ในปีนี้ ปตท.มีแผนใช้เงินลงทุนราว 5.39 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกใช้ไปแล้วราว 50% ส่วนที่เหลือก็จะใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นไปตามแผนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และสอดคล้องกับที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ได้ขอให้ ปตท. ร่วมเป็นหน่วยงานในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 โดยปตท.ได้ดำเนินการหลากหลายเรื่อง และจะเน้นเรื่องการจ้างงาน เพิ่มขึ้น ทั้งการจ้างงานตรง โดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. และการจ้างงานในรูปแบบเชิงช่วยเหลือสังคมเพิ่มมากขึ้น
การดำเนินของกลุ่ม ปตท.เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะอยู่ภายใต้กลยุทธ์ Reimagination ซึ่งเป็นการออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเป็น Next normal ทั้งธุรกิจปัจจุบันและโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยปตท.ได้ศึกษาปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในสิ้นปีนี้
กลยุทธ์ดังกล่าว ประกอบด้วย
1.Reimagine upstream การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปสู่ LNG Portfolio Player ซึ่งเป็นการขยายตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในต่างประเทศ และแสวงหาโอกาสการลงทุนใน Value Chain ของก๊าซฯ และ LNG โดยเบื้องต้นเตรียมที่จะทำเทรดดิ้ง LNG ในภูมิภาค ภายใต้การเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค (LNG HUB) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้
นอกจากนี้เมื่อช่วงต้นปี 63 ปตท.และบมจ.บ้านปู (BANPU) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจการลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ และ LNG เพื่อหาศึกษาโอกาสร่วมกันว่าจะสามารถร่วมทำธุรกิจในรูปแบบใดได้บ้าง เพราะ LNG มี Value Chain เบื้องต้นคาดว่าอาจจะเป็นความร่วมมือในประเทศก่อน และมีโอกาสขยายไปยังต่างประเทศ โดยมีกรอบการศึกษาประมาณ 1-2 ปี คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ถึงกลางปี 64
2.Reinforce downstream การสร้างมูลค่าทงาธุรกิจ (Synergy) ของกลุ่มปตท. เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวได้อย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน ดำเนินการร่วมกันในกลุ่มปตท. ผ่านความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด
3.Reignite new business at SCALE การเร่งพัฒนาและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งวางเป้าหมายใช้เงินลงทุนราว 20% ของพอร์ตลงทุน แบ่งเป็น การลงทุนในธุรกิจใหม่ ราว 10% ซึ่งจะเป็นการขยายเข้าสู่ธุรกิจ Life Science การต่อยอดจากธุรกิจ Commodity ไปสู่ Advanced material การต่อยอดจากธุรกิจน้ำมันไปสู่ Mobility & Lifestyles และ Logistics
ขณะที่การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 10% กลุ่มปตท.มีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระดับ 8 พันเมกะวัตต์ภายในปี 73 จากกว่า 500 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมกับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่อินเดียและไต้หวัน
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า แผนลงทุน 5 ปี (ปี 63-67) ยังคงเป็นไปตามเดิมที่ 1.8 แสนล้านบาท แต่จะมีการทบทวนอีกครั้งสำหรับแผน 5 ปี (ปี 64-68) ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นพอร์ตลงทุนส่วนใหญ่ราว 40% ยังอยู่ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจใหม่ราว 10% ธุรกิจพลังงานทดแทนราว 10%
ปัจจุบัน ปตท.มีเงินสดในมือกว่า 1 แสนล้านบาท หลังจากที่ได้ออกหุ้นกู้ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เห็นว่าขณะนี้อาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะออกหุ้นกู้เพิ่มเติม ยกเว้นจะมีแผนลงทุนขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันการออกหุ้นกู้ก็ต้องพิจารณาสภาพตลาด และความจำป็นในการใช้เงินด้วย
ส่วนกระแสข่าวการต่ออายุการทำงานของนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 ก.ย.63 นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้แจงได้ แต่ตามเกณฑ์ในฐานะที่ PTTEP เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดย PTTEP เป็นรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.งบประมาณฯ และก็มีพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่กำหนดว่าจะต้องเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี อย่างไรก็ตาม PTTEP ไม่เข้าเกณฑ์ตามพ.ร.บ.คุณสมบัติฯ เพราะมีภาครัฐถือหุ้นไม่เกิน 2 ใน 3 ซึ่งการบริหารจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องพิจารณาในหลายมิติประกอบกันด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 63)
Tags: PTT, ปตท., ผลประกอบการ, ราคาน้ำมัน, อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์