รมว.คลัง เตรียมออก”ชิม ช้อป ใช้ 4″กระตุ้นเศรษฐกิจใน ก.พ.63, เตรียมทบทวน GDP ปีนี้หลังมองโอกาสหลุดเป้า
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง คาดว่าจะออกมาตรการ”ชิม ช้อป ใช้” เฟส 4 ในช่วงเดือน ก.พ.63 เพื่อให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะจัดทำมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด สำหรับกลุ่มเป้าหมายจะยังเน้นที่ประชาชนและร้านค้าในประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะคงกลุ่มเป้าหมายเดิมและเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่เข้ามาเสริม
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ จากเป้าหมายเดิมคาดว่าจะเติบโต 3.3% เนื่องจากมีหลายปัจจัยกระทบ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว และเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากจีน ซึ่งจะประเมินให้อยู่ในภาพของความเป็นจริง พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีวิธีการบริหารจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้น
“GDP ขอประเมินใหม่เพราะปัจจัยกระทบมีหลายอย่าง เวิลด์แบงก์ยังลด GDP โลกเหลือ 3%ต้นๆ ดังนั้นคลังต้องประเมินตัวเลขให้อยู่ในภาพความเป็นจริง ต้องยอมรับว่ามีทั้งปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลได้พยายามหาทางบริหารจัดการ แต่ขณะเดียวกันปัจจัยบวกก็ยังมี” รมว.คลัง กล่าว
นายอุตตม กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวลงตามไปด้วย ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
ดังนั้น กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากร และกรมบัญชีกลาง เร่งพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และการบริโภคภายในประเทศเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องเสร็จและสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ก.พ. 63
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเมินผลมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ เฟส 3 ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ โดยมีผู้ได้รับสิทธิ 12.6 ล้านคน ร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ จำนวน 1.7 แสนร้านค้า มีผู้ใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 1 วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท และช่องที่ 2 วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ สศค.ได้คิดมาตรการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย และสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ขณะเดียวกันจะมีมาตรการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้น โดยจะให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการปรับปรุงที่พัก แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงอาจจะให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 1 เท่า
“มาตรการชิม ช้อป ใช้ 4 เป็นการปรับใหม่หมดให้ดีกว่าเดิม โดยคนที่ได้สิทธิอยู่แล้วจะได้สิทธิเหมือนเดิม และจะมีการลงทะเบียนเพิ่มทั้งประชาชนและร้านค้า ส่วนเรื่องการแจกเงินต้องรอดูก่อน โดยไม่ต้องห่วงในเรื่องของงบประมาณที่จะใช้ เพราะรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช้แบบสุรุ่ยสุร่ายหรือหว่านจ่าย
ในส่วนนี้เบื้องต้นสามารถนำเงินจากงบกลางปี 2563 มาใช้ได้ก่อน เช่น หากมีความต้องการใช้เงิน 1 หมื่นล้านบาท ก็สามารถขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เพื่อนำมาใช้ก่อน โดยปัจจุบันยังเหลือเงินจากมาตรการชิม ช้อป ใช้ที่ดำเนินการมาแล้ว 5 พันล้านบาท จากทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท” นายอุตตม กล่าว
สำหรับแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้น นายอุตตม กล่าวว่า จะส่งผลดีกับภาคการส่งออกอย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหนยังไม่สามารถชี้แจงได้ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก ทั้งอุปสงค์ของตลาดโลกที่ยังชะลอตัว ไม่ใช่แค่ค่าเงินบาทอย่างเดียว แต่ก็มีสัญญาณดีจากการที่สหรัฐฯและจีนตกลงทางการค้ากันได้ ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคระบาดเข้ามา ซึ่งในส่วนของไทยยืนยันว่าควบคุมได้ แม้ว่าจะเจอเคสใหม่ก็ตาม และ ครม. ยังไม่มีมติห้ามคนจีนเข้าประเทศ โดยทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานให้ช่วยกันดูแล สื่อสารให้มากและชัดเจนที่สุดทั้งในเรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการและดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เชื่อว่าจะเกิดแค่ช่วงสั้น 2 สัปดาห์ ความรุนแรงยังเทียบเท่าช่วงที่เกิดไวรัสซาร์สไม่ได้ แต่ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3.3% แต่เชื่อว่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 2.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 63)
Tags: กระตุ้นเศรษฐกิจ, กระทรวงการคลัง, ชิมช้อปใช้, เศรษฐกิจไทย, ไวรัสโคโรนา