นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรว่า กระทรวงพลังงานยังคงเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 1.2 ล้านคัน ภายในปี 73 จากปัจจุบันที่มียอดสะสมราว 4,301 คัน
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station)และเทคโนโลยีรถอีวี ระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart Grid), ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart Meter) และแผนลดการใช้ไฟฟ้าประชาชนภาคสมัครใจ(Demand Response) เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีระบบไฟฟ้ารองรับการใช้รถอีวี ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจรองรับได้มากถึง 3 ล้านคัน
ทั้งนี้ เทคโนโลยี สถานีอัดประจุไฟฟ้า มีความก้าวหน้าขึ้นมากสู่ระดับการเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart Charge) ซึ่งสามารถคำนวณได้ว่าควรจะชาร์จไฟฟ้าช่วงไหนเพื่อให้ได้อัตราค่าชาร์จไม่แพง รวมถึงแบตเตอรี่รถอีวี สามารถทำเป็นโรงไฟฟ้าเสมือนได้ ด้วยการให้รถอีวีสามารถปล่อยประจุไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า
ดังนั้น กระทรวงจึงอยู่ระหว่างศึกษาให้ผู้ใช้รถอีวี สามารถนำไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากแบตเตอรี่ ขายเข้าระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ ซึ่งจะต้องศึกษารูปแบบและกฎระเบียบรองรับแนวทางดังกล่าวต่อไป
ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้รถอีวีด้วยการวางแผนอย่างเป็นระบบ เริ่มด้วยการสร้างความต้องการใช้ให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยการลดอุปสรรคด้านราคารถอีวี ด้วยการกำหนดปริมาณแบตเตอรี่ให้พอเหมาะกับความต้องการใช้
รวมถึงต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อสถานีทั่วประเทศ และต้องชาร์จด้วยความเร็วประมาณ 15-20 นาที จากนั้นต้องนำร่องให้มีการใช้รถอีวีในรถสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถยนต์ของราชการก่อน เมื่อมีความต้องการใช้จะส่งผลให้เกิดผู้ผลิตรถอีวี ผู้ผลิตแบตเตอรี่ และผู้ผลิตชิ้นส่วนอีวีตามมา และมีโอกาสที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถอีวีในอาเซียนได้ต่อไป
นายระวี มาศฉมาดล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน กล่าวว่า รถอีวีจะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้ ทำให้ยังเห็นการเติบโตของการใช้รถอีวี แม้ในช่วงราคาน้ำมันโลกตกต่ำ และมีสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่คาดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มการใช้รถอีวีมากถึง 60% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด หรืออาจจะเร็วกว่านั้นหากราคาแบตเตอรี่รถอีวีถูกลง เนื่องจากปัจจุบันราคาแบตเตอรี่คิดเป็น 40-50% ของราคารถอีวี หากราคาแบตเตอรี่ลดเหลือเพียง 30% จะทำให้รถอีวีมีราคาเท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบัน
ดังนั้น คณะกรรมธิการพลังงาน ได้จัดตั้งอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยมีคณะกรรมการถึง 30 คนจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ มาร่วมกันศึกษาวิเคราะห์แนวทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายประเทศอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้รถอีวี ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าการขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จจะต้องร่วมมือกับระหว่างภาครัฐที่กำกับนโยบาย ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ลงทุนและภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้จึงจะสำเร็จ
ด้านนายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมฯ เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 8 ข้อ ได้แก่ 1.การจัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ(EV Roadmap) 2.ปรับปรุงข้อกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง 3.ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะให้ประชาชนซื้อรถอีวีได้ในราคาที่เหมาะสม 4.ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสามล้อไฟฟ้า
5.การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า 6.จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง 7.ให้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าและ 8.ให้ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มียานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ จำนวน 3,076 คัน เติบโตก้าวกระโดดจากปี 60 ที่มียอดจดทะเบียนเพียง 165 คัน ขณะที่ปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะทั่วประเทศอยู่ที่ 557 แห่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 63)
Tags: พลังงานบริสุทธิ์, รถยนต์ไฟฟ้า, รถอีวี, ระวี มาศฉมาดล, วัฒนพงษ์ คุโรวาท, สนพ., สมโภชน์ อาหุนัย