‘สุพัฒนพงษ์-ปรีดี’ เตรียมออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ คาดชัดเจนใน ส.ค.นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานและนายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเพื่อมอบนโยบายในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ ในโอกาสที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน

นายสุพัฒพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยจะเห็นความชัดเจนภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยจะเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และหากจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอีกก็สามารถกู้เพิ่มเติมได้ เช่น ถ้าเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2 เป็นภาวะการณ์ที่ควบคุมไม่ได้

“วันนี้การดำเนินการทั้งหมดยังอยู่ภายใต้กรอบการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะดำเนินการภายใต้สถานการณ์ หากระบาดรอบ 2 ต้องปิดเมืองอีกครั้ง แล้วต้องเพิ่มการกู้เงินกู้ก็ต้องเพิ่ม หนี้สาธารณะวันนี้อยู่ระดับกว่า 40% ของจีดีพี รัฐบาลไม่มีนโยบายตั้งเป้าว่าหนี้จะต้องเป็นเท่าไหร่ แต่ตั้งเป้าต้องรักษาควบคุมการระบาดให้ดี แล้วเราจะใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมและดีที่สุด”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในไตรมาส 2/63 ออกมาหดตัว -12.2% นั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ จะมากหรือน้อยหรือไม่เท่านั้น และประเทศไทยมีสัดส่วนของรายได้จากท่องเที่ยวและการส่งออกต่อ GDP ค่อนข้างสูง ทำให้ได้รับผลกระทบมาก แต่ก็ยังมีประเทศอื่นที่แย่กว่าไทย

“การที่ GDP ติดดลบ 12.2% คิดว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำไป ถ้าการระบาดที่เราร่วมมือกันไม่ได้ดีอย่างนี้ ควบคุมการระบาดไม่เรียบร้อย ก็อาจจะแย่กว่านี้ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย หลายประเทศเปิดประเทศ ไม่ควบคุมเหมือนไทย เศรษฐกิจก็แย่กว่านี้”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบาย 5 เรื่อง คือ 1.การดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน 2. เตรียมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องเป็นมาตรการยั่งยืนไม่ใช่แค่การเยียวยาโดยตรง 3. หาแนวทางในการจูงใจให้ภาคธุรกิจธุรกิจต่าง ๆ จ้างงาน 4.เน้นเรื่องการจ้างแรงงานจากนักศึกษาจบใหม่ สู่ตลาดแรงงาน และ 5.ทำงานอย่างซื่อสัตย์โปร่งใส รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูภาพรวมปัญหาและอุปสรรคในเชิงปฏิบัติให้เหมาะสม โดยจะต้องสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตรงเป้าหมายตรงจุดให้เหมาะสมกับผู้ที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือ

โดยนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 (ศบศ.) ในการดูแล 5 แนวทางที่กล่าวมา

“เชื่อว่าคือวิธีการทำงานที่จะรวดเร็วขึ้น มีการบูรณาการข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น และเป็นการทำงานร่วมมือกัน ไม่แยกหน่วยงาน ไม่แยกกระทรวง ไม่แยกรัฐ ไม่แยกเอกชน เราจะได้ทางเลือก หรือทางออกที่ดี มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวสูง สอดคล้องความไม่แน่นอน หรือปัญหาที่เกิดขึ้น จึงดำริเรื่องรวมไทยสร้างชาติขึ้นมา” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ด้านนายปรีดี กล่าวว่า กระบวนการทำงานของกระทรวงการคลังจะเปลี่ยนไป การตัดสินใจ การทำมาตรการต่าง ๆ อยู่ที่ ศบศ. ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล ดังนั้น บทบาทของคลังจากในอดีตจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง โดยวันนี้กระทรวงการคลังมีเรื่องตัวเงินที่ต้องเข้าไปสนับสนุนร์ต เรื่องวินัยการเงินการคลังบทบาทเปลี่ยนชัดเจน จะมีข้อมูลและมาตรการในรายละเอียดออกมาจาก ศบศ. หลังจากนี้

สำหรับความท้าทายระยะสั้น นายปรีดี มองว่า เศรษฐกิจทุกประเทศหดตัวลงเช่นเดียวกัน หาก GDP ไทยถูกกระทบมากเท่าใดขึ้นกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่ปัญหาเกิดจากคนเดินทางไม่ได้ ทำให้เราได้รับผลกระทบในส่วนนี้มากที่สุด ทั้งหมดเป็นเหตุและผล ทุกคนถามว่าเมื่อไหร่จะกลับที่เดิม จะ 1-2 ปีนั่นเป็นความคาดหวัง เป็นกำลังใจ เพราะความไม่แน่นอนยังมีอยู่ เราจะแก้ปัญหากัน 1-2 เดือนหรือแก้ปัญหาจนถึงวัคซีนมา บางเรื่องยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะมีเหตุและผลของตัวเอง

“ผมมานั่งคลัง ผมจะไม่ตอบอะไรที่มันไม่มีความชัดเจน เพราะทำอย่างนั้นไม่ได้ เช่นเรื่องการกู้เงิน เราก็เป็นหนี้ พอเป็นหนี้ ถามต่อไปว่าเป็นหนี้ต้องใช้คืน เพราะฉะนั้นเป็นหนี้ต้องมีการคืน ก็โยงกลับไปสู่แหล่งรายได้ แต่ถ้าถามความจำเป็นต้องเป็นหนี้เพิ่มไหม รัฐบาลก็ต้องเป็นหนี้แน่นอน และรู้ว่าทุกคนมีความคาดหวังเมื่อมีคนใหม่เข้ามาทำงานจะก่อให้เกิดสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง” นายปรีดี กล่าว

ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 7.45 แสนคน หรือ 2% ของกำลังแรงงาน และคาดว่ามีแรงงานมากกว่า 2 ล้านคนที่ไม่ได้รับเงินเดือน แต่มีงานรอที่จะกลับไปทำ รวมทั้งเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมีจำกัด ทั้งงบประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.โอนงบประมาณ และ พ.ร.ก. กู้เงิน ใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปส่วนหนึ่งแล้ว ในช่วงที่เหลือมีเม็ดเงินงบประมาณจำกัด ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีความคุ้มค่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top