นายเอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 บริษัททำรายได้รวม 887.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 869.4 ล้านบาท ส่งผลรายได้รวม 6 เดือนแรกปี 63 อยู่ที่ 1,853.4 ล้านบาท เติบโต 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,766.2 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นผลงานที่ดีกว่าภาพรวมตลาดโลจิสติกส์
รายได้ที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยจากธุรกิจคลังสินค้าทั่วไปที่มีรายได้รวมไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา 107.3 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปีนี้ 211.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.5% และ 24.6% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ย ณ สิ้นไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้นเป็น 95.6%
ส่วนธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น มีรายได้รวมไตรมาส 2/63 ราว 199.4 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ 387.8 ล้านบาท เติบโต 34.7% และ 27.5% ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณสินค้าที่รับฝากเพิ่มขึ้นและได้ขยายธุรกิจ JWD Cold Chain Express Delivery ส่งผลดีต่อการการใช้พื้นที่คลังสินค้าห้องเย็นที่บางนา นอกจากนี้ยังรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสที่ประเทศไต้หวัน หลังจากเริ่มมีรายได้จากการขยายบริการจัดเตรียมวัตถุดิบแก่แบรนด์ฟาสด์ฟู้ดชั้นนำ
ขณะที่กำไรสุทธิของ JWD ในช่วงไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 48.1 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปี 63 อยู่ที่ 141.6 ล้านบาท ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์ ธุรกิจขนส่งสินค้า และธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตราย ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตรถและชิ้นส่วนอะไหล่ที่ชะลอตัว รวมถึงความต้องการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ตามในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ผู้ผลิตรถยี่ห้อต่าง ๆ ทยอยกลับมาเปิดสายการผลิตจนครบทุกยี่ห้อในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD กล่าวว่า มีความมั่นใจจะทำผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังได้ดีกว่าช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา หลังจากธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและมีรายได้รวมถึงผลกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าจะกลับสู่ระดับปกติได้ในปีหน้า ส่วนธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตรายและธุรกิจขนส่งสินค้า คาดว่าจะได้รับผลดีจากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความต้องการใช้วัตถุดิบและบริการด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนเพิ่มรายได้โดยขยายฐานลูกค้าธุรกิจ Cold Chain Express Delivery เพื่อจัดส่งสินค้าแบบ B2C (Business to Customer) ที่กำลังเติบโตหลังโควิด-19 และการร่วมมือกับ Transimex corporation พาร์ทเนอร์ด้านโลจิสติกส์ในประเทศเวียดนาม ให้บริการธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามแดนที่มีเส้นทางเชื่อมต่อประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในขณะเดียวกันได้เน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้มีค่าใช้จ่าย SG&A ลดลงเหลือ 313.9 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 353.3 ล้านบาท
“จุดแข็งของ JWD คือเรามี Strength in Diversify หรือความแข็งแกร่งจากพอร์ตธุรกิจและฐานลูกค้าด้านบริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่หลากหลาย รวมถึงกระจายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ทำให้เราสามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ และผลกระทบจากโควิด-19 ได้อย่างแข็งแกร่ง ฐานะการเงินของบริษัทฯ ยังเข้มแข็งไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง และมั่นใจว่าด้วยโมเดลธุรกิจที่วางไว้เราจะสามารถสร้างการเติบโตจากการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน”
นายชวนินทร์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ส.ค. 63)
Tags: JWD, ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา, หุ้นไทย, เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์, เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน, โลจิสติกส์