เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน เมื่อเย็นวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในกรุงเบรุตอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ ทั้งยังซ้ำเติมเลบานอนที่กำลังเผชิญพิษเศรษฐกิจที่รุมเร้า ความวุ่นวายทางการเมือง และวิกฤตโควิด-19 จนนำไปสู่การประท้วงเดือดขับไล่รัฐบาล และการเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการเมืองที่เด็ดขาด ทำให้คณะรัฐบาลที่มีอายุเพียง 6 เดือน ต้องยอมจำนนด้วยการประกาศลาออกทั้งคณะ
In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านร่วมติดตามสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุของเลบานอน พร้อมย้อนรอยปมปัญหาที่เกิดขึ้น
รัฐบาลเลบานอนประกาศลาออก สังเวยเหตุระเบิดมรณะ
“วันนี้ เราทำตามความต้องการของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้เรารับผิดชอบต่อหายนะที่ซุกซ่อนมาถึง 7 ปี และที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” นี่คือถ้อยแถลงในระหว่างการประกาศลาออกของนายฮัสซัน ดิอาบ นายกรัฐมนตรีเลบานอน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดที่คลังสินค้าของท่าเรือกรุงเบรุตเมื่อวันอังคารที่ 4 ส.ค. ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 171 ราย บาดเจ็บกว่า 6,000 ราย และทำลายอาคารมากถึง 6,000 แห่ง ขณะที่นายมิเชล อูน ประธานาธิบดีเลบานอน ประเมินว่า มูลค่าความเสียหายจากเหตุระเบิดครั้งนี้สูงกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหตุระเบิดสร้างความโกรธแค้นอย่างมากต่อชาวเลบานอน ประชาชนหลายพันคนได้ออกมารวมตัวกันตามท้องถนนในกรุงเบรุตเพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเมืองที่เด็ดขาด เพราะเชื่อว่าเหตุระเบิดครั้งนี้มีต้นตอมาจากการทุจริตคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล รวมทั้งความประมาทที่ไม่จัดเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรตจำนวน 2,750 ตัน ตามมาตรการความปลอดภัย
ความกดดันจากการประท้วงที่รุนแรงได้บีบให้บรรดารัฐมนตรีหลายคนทยอยตบเท้าลาออก แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเสนอให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดก็ตาม รัฐมนตรีคนแรกที่ประกาศลาออก คือ นางมานัล อับเดล ซาหมัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ ในวันที่ 9 ส.ค. ตามมาด้วยนายดาเมียนอส คัตตาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ที่กระโดดลงจากนาวารัฐขึ้นฝั่งเป็นรายที่ 2
ผ่านไปยังไม่ครบวัน ช่วงเช้าของวันที่ 10 ส.ค. นายกาซี วาซนี รัฐมนตรีคลังผู้เป็นหัวหอกคนสำคัญในการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ตามมาด้วยนายนัสซีฟ ฮิตตี รัฐมนตรีต่างประเทศของเลบานอน ที่ยกธงขาว พร้อมเตือนว่าเลบานอนกำลังจะกลายเป็น “ประเทศที่ล้มเหลว เนื่องจากรัฐบาลขาดความตั้งใจที่จะดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างอย่างแท้จริง
แน่นอนว่าการลาออกของรัฐมนตรีคนสำคัญ ประกอบกับการประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศ ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาลอย่างมาก จนในที่สุด นายดิอาบ ตัดสินใจนำรัฐบาลประกาศลาออกทั้งคณะ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิด โดยอ้างว่าเขายอมถอยออกเพื่อจะได้ยืนหยัดร่วมกับประชาชน และต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงร่วมกับประชาชน
อย่างไรก็ดี การประกาศลาออกของรัฐบาลยังคงจะไม่สามารถบรรเทาความคับข้องใจของประชาชนได้ โดยผู้ประท้วงยังคงยืนกรานที่จะเรียกร้องการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตที่เกิดขึ้นภายในประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงเหตุระเบิดครั้งนี้
ระบบการเมือง : ต้นเหตุของความล้มเหลว
ข้อเรียกร้องสำคัญของการประท้วงขับไล่รัฐบาลเลบานอนคือ การปฎิรูประบบการเมือง เนื่องจากเลบานอนเป็นสังคมที่มีความเชื่ออันหลากหลาย และแม้ว่าระบบการเมืองจะพยายามแบ่งอำนาจให้แต่ละกลุ่มศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน แต่ก็กลับไม่ได้ให้ผลลัพธ์อย่างที่คิด
เลบานอนจัดสรรอำนาจทางการเมืองให้แก่กลุ่มศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้แก่ กลุ่มศาสนาคริสต์นิกายมาโรไนต์ กลุ่มศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ และกลุ่มศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลฝ่ายประธานาธิบดี ฝ่ายประธานสภาผู้แทนราษฏร และฝ่ายของนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ การจัดสรรอำนาจดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงเมื่อปี 2486 นอกจากนี้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร 128 ตำแหน่ง ยังมีการจัดสรรอย่างเท่าเทียมระหว่างกลุ่มชาวคริสต์กับมุสลิม
การแบ่งอำนาจดูเหมือนจะดี แต่กลับเป็นชนวนสำคัญที่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน การสรรหาตำแหน่งมักจะพิจารณาจากนิกายทางศาสนามากกว่าคุณสมบัติที่เหมาะสม จนนำไปสู่การคอร์รัปชั่นในแต่ละนิกาย โดยมาร์วัน มัวเชอร์ รองประธานกองทุนการกุศลคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า “การคอร์รัปชันถูกทำให้เป็นประชาธิปไตย มันไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่คนเดียว แต่มันกระจายอยู่ในทุกคนภายในนิกาย”
นักการเมืองเลบานอนส่วนใหญ่มักจะรักษาผลประโยชน์ผ่านระบบพวกพ้องและอุปถัมภ์ โดยอิริก แวร์แดล ศาสตร์จารย์ประจำมหาวิทยาลัยซียอง โป ของฝรั่งเศส กล่าวว่า “ประชาธิปไตยของเลบานอนตั้งอยู่บนพื้นฐานของชุมชนและนิกายทางศาสนา แต่ความเป็นจริงกลับขึ้นอยู่กับผู้นำของแต่ละนิกายแทน”
นอกจากปัญหาด้านการทุจริตแล้ว ระบบการเมืองยังทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรค ซึ่งมีขั้วอำนาจที่ต่างกัน กล่าวคือ ฝ่ายมุสลิมชีอะห์ เช่น พรรค Free Patriotic Movement (FPM) ของประธานาธิบดีมิเชล อูน คนปัจจุบัน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านและซีเรีย และสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ แต่สหรัฐและอิสราเอลกลับมองว่าเป็นฮิซบอลเลาะห์กลุ่มก่อการร้าย ขณะที่พรรคฝ่ายนิกายมุสลิมสุหนี่ เช่น พรรค Future Movement และพรรคของฝ่ายคริสต์นิกายมาโรไนต์ เช่น พรรค Lebanese Forces และพรรค Kataeb มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ระบบการเมืองที่แบ่งแยกอำนาจแก่ 3 นิกายทางศาสนานั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อการบริหารภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังบีบให้ต้องมีการเลือกขั้วอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนก่อให้เกิดความขัดแย้งอยู่บ่อยครั้ง
วิกฤตเศรษฐกิจ : ผลจากระบบการเมือง
ปฎิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของเลบานอนส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบการเมืองที่เป็นปัญหา โดยแม้ว่าเลบานอนเคยฟื้นฟูเศรษฐกิจจนได้รับฉายยาว่า “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง” แต่ก็กลับประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอีกครั้ง เพราะเข้าร่วมสงครามกลางเมืองซีเรียเมื่อปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ
ในปีที่ผ่านมา เลบานอนเผชิญกับวิฤกตเศรษฐกิจเลวร้ายซึ่งสะสมมานานหลายปี โดยมีตัวเลขขาดดุลงบประมาณปี 2562 สูงถึง 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขณะที่อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 150% สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ 25%
เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเลบานอนคาดการณ์ว่าประชากรประมาณ 48% จะประสบกับความยากจน และคาดว่าระดับความยากจนจะพุ่งขึ้นถึง 60% ภายในสิ้นปี 2563 ขณะเดียวกัน Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ คาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่า เศรษฐกิจของเลบานอนปี 2563 จะหดตัวราว 12% ขณะที่การขาดดุลงบประมาณต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นเป็น 14%
การขาดดุลการคลังทำให้เลบานอนตกอยู่ในวิกฤตอย่างสาหัส จนส่งผลให้เลบานอนผิดนัดชำระหนี้จำนวน 1.2 พันล้านยูโรในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับราคาอาหารที่สูงขึ้น ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างจำกัด และต้องเผชิญปัญหาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างสาหัส เช่น ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม และเกิดไฟฟ้าดับรายวัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นนานถึง 12 ชั่วโมง นอกเมืองเบรุต
ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงออกมารวมตัวประท้วงกันอยู่บ่อยครั้ง โดยเหตุระเบิดที่กรุงเบรุตได้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ปะทุความเดือดดาลชองชาวเลบานอน ซึ่งไม่เพียงแต่แค่เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศลาออกเท่านั้น แต่ต้องการการปฎิรูปโครงสร้างการเมืองที่ฝังรากลึกอย่างจริงจัง
รัฐบาลใหม่ที่ปลอดอำนาจนิกายทางศาสนา : ทางออกที่มีความหวัง
ท่ามกลางวิกฤตการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ทรุดตัว การคอร์รัปชัน และการที่รัฐบาลขาดความสามารถในการปกครองประเทศนั้น การปฎิรูประบบการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลที่ปลอดอำนาจผู้นำนิกายทางศาสนาจึงกลายเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยให้เลบานอนรอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ได้
อิบราฮิม ฮาลาวี อาจารย์ด้านการเมืองตะวันออกกลาง ประจำวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ มหาวิทยาลัยลอนดอน แสดงความเห็นว่า “เลบานอนจำเป็นต้องฟื้นฟูประเทศด้วยการจัดตั้งรัฐบาลอิสระที่มีอำนาจบริหาร และดำเนินการปฏิรูปที่จำเป็นโดยไม่ถูกควบคุมจากผู้นำนิกายทางศาสนา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมอย่างที่เคยเป็น”
ก่อนหน้านี้ เลบานอนเผชิญสุญญากาศทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง จนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกอบกู้ศรัทธาในหมู่ประชาชนให้กลับคืนมา โดยราเจห์ คูรี คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์อัน นาฮาร์ ของเลบานอน กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่นี้ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้นำนิกายทางศาสนา และต้องสามารถดึงดูดแรงสนับสนุนทางการเงินจาก IMF เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ล่มสลาย นอกจากนี้ ยังต้องจัดสรรเงินบริจาคจากต่างประเทศให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายอย่างแท้จริง”
คำพูดดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของฮิลาล คาซาน อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งเบรุต ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน โดยกล่าวว่า “เลบานอนกำลังล้มละลาย คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องมีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง และต้องไม่มีความโลภเหมือนกับรัฐมนตรีในอดีตที่ผ่านมา”
แม้เหตุระเบิดรุนแรงที่กรุงเบรุตจะผ่านพ้นไปเพียงแค่สัปดาห์เดียว แต่บรรยากาศในเลบานอนยังคงเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เราจึงต้องติดตามกันต่อไปว่าการปฎิรูประบบการเมืองจะสำเร็จด้วยพลังของประชาชนหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เลบานอนอาจจะต้องเผชิญกับการเป็น “ประเทศที่ล้มเหลว” ตามที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนเก่าวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 63)
Tags: กาซี วาซนี, การเมือง, นัสซีฟ ฮิตตี, ระเบิด, อิบราฮิม ฮาลาวี, เบรุต, เลบานอน