นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า ผลประกอบการครึ่งแรกของปี 63 นับว่ามีเสถียรภาพ โดยมีรายได้จากการขายรวม 1,151 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 36,334.10 ล้านบาท) มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 235.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,286.95 ล้านบาท) และขาดทุนสุทธิ 23 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 801.70 ล้านบาท) มีสาเหตุหลักจากราคาเชื้อเพลิงที่อ่อนตัวลงหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังมีรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการเปลี่ยนสภาพสัดส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด BKVOil&Gas Capital Partners,L.P. เป็นผู้ถือหุ้นใน BKVCorporation ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 การปรับโครงสร้างดังกล่าวช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารงานกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปูฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับกับการสร้างการเติบโตในอนาคต โดยรายการดังกล่าวเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสด จึงไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและการจ่ายปันผลของบ้านปูฯ แต่อย่างใด
ขณะที่การดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทเน้นการเพิ่มและรักษากระแสเงินสด จากการปิดดีลการเข้าซื้อก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซฯแห่งใหม่ได้เร็วขึ้น และจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว พร้อมนำเสนอสินค้าและบริการจากกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากมาตรการระยะสั้น ทั้งการลดค่าใช้จ่ายทั่วทั้งองค์กร ควบคู่ไปกับการปรับตัวทางด้านการดำเนินงานที่มุ่งเน้นชัยชนะเล็ก ๆ ระหว่างทาง (Short-term wins)
“ช่วงครึ่งปีแรก บ้านปูฯ ประสบความท้าทายจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านผลประกอบการและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน เราได้พยายามทุกวิถีทางในการสร้างการเติบโตและความยั่งยืนทางธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน โดยได้ดำเนินมาตรการระยะสั้นที่มีประสิทธิภาพและหลากหลาย ได้แก่ การดำเนินมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ และบริษัทในเครือลง 20% การชะลอการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีความเสี่ยงสูง เน้นการทำธุรกิจในประเทศที่มีโอกาสทางธุรกิจสูงและมีความเสี่ยงทางการเงินต่ำ การซื้อขายที่มีสัญญาประกันราคาขาย เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนต่าง ๆ”
นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า กลุ่มบริษัทยังได้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในประเทศเวียดนาม มูลค่าการลงทุนจำนวน 66 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,038.74 ล้านบาท) โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว จึงช่วยเพิ่มรายได้และกระแสเงินสดจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียนให้กับบริษัทฯ ได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ที่ปรับเปลี่ยนวันปิดรายการจากภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการผลิตและเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปูฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้บ้านปูฯ สามารถรับรู้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของแหล่งบาร์เนตต์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 หรือเร็วขึ้น 1 ไตรมาส
สำหรับภาพรวมผลประกอบการในครึ่งปีแรก ของกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนวันปิดรายการซื้อในสัญญาซื้อขายแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการบริหารกระแสเงินสดแล้ว บริษัทยังดำเนินมาตรการลดรายจ่ายในการลงทุน (CAPEX) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้เชื้อเพลิงที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมในช่วงโควิด-19 ทำให้มีอุปทานในตลาดสูงและราคาขายเฉลี่ย (Average Selling Price: ASP) ของถ่านหินลดลง
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลังจะกลับมาดีขึ้นในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว หลังจากเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัว ขณะเดียวกัน บ้านปูฯ ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตในธุรกิจถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ยังคงดำเนินงานได้ตามปกติ สามารถสร้างกระแสเงินสดและผลกำไรที่แข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยโรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังคงเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากรายงานดัชนีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) เต็ม 100% ส่วนโรงไฟฟ้าหงสา อยู่ที่ 63% เนื่องจากมีการหยุดเดินเครื่องของหน่วยผลิตที่ 3 ในช่วงระหว่างปลายเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถในการเดินเครื่องในระยะยาว หลังพบความผิดปกติของบางอุปกรณ์ในเครื่องจักร โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยผลิตที่ 3 ได้กลับมาเดินเครื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนและญี่ปุ่น สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ รวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีนนั้น ก็มีการดำเนินงานคืบหน้าไปแล้วกว่า 83% และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนด พร้อมสร้างรายได้ให้กับบริษัทในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
สำหรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ยังคงดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังมีการขยายพอร์ตเทคโนโลยีพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกภาคส่วน รวมทั้งยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกประเทศที่บริษัทดำเนินธุรกิจ โดยมีธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาเป็นธุรกิจหลักที่ช่วยสร้างรายได้ ด้วยกำลังการผลิตที่ 172 เมกะวัตต์ (MW) และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการคิดค้นและให้บริการโซลูชันด้านเทคโนโลยีพลังงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เป็นทั้งในระดับธุรกิจ อุตสาหกรรม และบุคคล เช่น การเปิดเส้นทางใหม่ของบริการรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้า MuvMi เพิ่มเติม การเปิดตัว อีเฟอร์รี่” เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของไทยเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นต้น
“ท่ามกลางความท้าทายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 บ้านปูฯ ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการยึดหลักกลยุทธ์ Greener & Smarter และเทรนด์ 3Ds ซึ่งประกอบด้วยการกระจายตัวการผลิตและจำหน่ายพลังงานแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralization)การใช้พลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) ทั้งนี้ เรายังเน้นการทำงานด้วยแนวคิด ‘Working Agility’ และค่านิยมองค์กร ‘Banpu Heart’ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านปูฯ มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและสามารถผ่านวิกฤติต่าง ๆ มาได้อยู่เสมอ”
นางสมฤดี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 63)
Tags: BANPU, บ้านปู, ผลประกอบการ, พลังงาน, สมฤดี ชัยมงคล, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้าพลังงานลม