กำหนดขายปลีกไม่เกิน 2.50 บ.
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลาว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 27 พ.ศ. 2563 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจำหน่ายหน้ากากอนามัย ลงวันที่ 11 ส.ค.63 โดยได้ปรับแนวทางและหลักเกณฑ์การบริหารหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใหม่ ให้ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายได้กลไกตลาดปกติ
จากเดิมที่กำหนดให้ต้องปันส่วนส่งขายให้กับรัฐ แต่ต้องขายปลีกไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท และหากเกิดวิกฤติการระบาดขึ้นอีกหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ผู้ผลิตต้องพร้อมที่จะขายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนการส่งออกยังกำหนดให้ผู้ผลิตต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการเฉพาะที่พิจารณาอนุญาตการส่งออกเช่นเดิม
สำหรับการปลดล็อกให้ผู้ผลิตขายได้ตามช่องทางการค้าปกติ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ของไทยเพิ่มขึ้นมากจากในช่วงแรกของการระบาดที่ผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น จากโรงงานที่ได้มาตรฐาน 9 แห่ง แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 4.5 ล้านชิ้น จากโรงงานทั้งหมด 30 แห่ง รวมถึงยังมีการนำเข้าอีกประมาณ 20 ล้านชิ้น ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงมีความต้องการใช้ราววันละ 3 ล้านชิ้น
ทั้งนี้ โรงงานสามารถขายให้กับคู่ค้าได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.นี้เป็นต้นไป แต่ต้องขายปลีกชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ตามราคาควบคุมที่กกร.กำหนด ซึ่งเป็นราคาที่โรงงานอยู่ได้ เพาะขณะนี้ราคาวัตถุดิบสำคัญ อย่างเมลท์โบลน (แผ่นกรองเชื้อโรค) ราคาลดลงมาก จากการที่ผู้ผลิตในต่างประเทศส่งออกได้มากขึ้น จากนี้ไปผู้บริโภคจะหาซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตามท้องตลาดได้แล้ว ส่วนก่อนหน้านี้ที่รัฐเคยให้โรงงานปันส่วนส่งขายให้กับรัฐนั้น จะหยุดรับซื้อไปก่อน เพราะต้องการให้โรงงานขายตามช่องทางการค้าปกติแล้ว
นายวิชัย กล่าวว่า หากผู้บริโภคพบว่าผู้ค้ารายใดขายราคาเกินกว่าชิ้นละ 2.50 บาท สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมโทร. 1569 และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ หากพบขายเกินราคาควบคุมจริง จะดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ค้าอ้างว่าหน้ากากที่ขายเกินเป็นหน้ากากนำเข้า และเมื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นหน้ากากนำเข้าจริง เพราะกรมฯ อนุญาตให้ผู้นำเข้าคิดราคาขายโดยบวกเพิ่มค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการนำเข้าได้ไม่เกิน 60% ของราคานำเข้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 63)
Tags: กรมการค้าภายใน, วิชัย โภชนกิจ, หน้ากากอนามัย