นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลการศึกษา “บุญหล่นทับหรือกรรมซ้ำเติม?…ฐานการผลิตไทยกับ CLMV หลังโควิด-19” พบว่า หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการต่างชาติให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้นในอันดับต้นๆ ในการตัดสินใจย้ายฐานการผลิต (ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 จากเดิมก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในอันดับที่ 11) ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังคงคำนึงถึงปัจจัยด้านต้นทุนต่ำเป็นปัจจัยหลักในการย้ายฐานการผลิต
อนึ่ง ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจำนวน 200 ตัวอย่าง แบ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย 70% และผู้ประกอบการต่างชาติที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย 30%
ดังนั้น ไทยควรจะใช้โอกาสจากโรคระบาด ผลักดันส่งเสริมสนับสนุนและเน้นอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางเพื่อสุขภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสุขภาพและอาหารเพื่อสุขภาพของโลก ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี AI วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่บุญหล่นทับหลังโควิด-19 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ด้าน IT เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ ฮาร์ดดิสก์ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องมือทางการแพทย์ เนื่องจากไทยสามารถจัดการกับโควิดได้ดี และแรงงานมีคุณภาพ มีความรู้ มีฝีมือ มีทักษะในการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการต่างชาติ มีแผนขยายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยเพิ่ม ประกอบด้วย ผู้ประกอบการจีน (ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ด้าน IT) ผู้ประกอบการญี่ปุ่น (เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องปรับอากาศ) และผู้ประกอบการมาเลเซีย (ฮาร์ดดิสก์)
นอกจากนี้ มีผู้ประกอบการต่างชาติที่มีแผนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย หลังโควิด-19 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ อาทิ ผู้ประกอบการจีน (ผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง) และผู้ประกอบการญี่ปุ่น (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องมือทางการแพทย์)
ส่วนอุตสาหกรรมไทยที่กรรมซ้ำเติมหลังโควิด-19 ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม แปรรูปอาหารทะเล/อาหารทะเลแช่แข็ง เครื่องจักรกล อาหารแปรรูป (สแน็ค/ขนมขบเคี้ยว และผักและผลไม้แปรรูป) เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีแผนจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแสวงหาแรงงานที่มีจำนวนมากและค่าแรงต่ำ แหล่งวัตถุดิบใหม่ที่มีคุณภาพใกล้เคียงไทยและราคาถูก และสิทธิประโยชน์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศที่ผู้ประกอบการไทยมีแผนจะขยายฐานการผลิตไปมากที่สุด คือ ประเทศเมียนมา (สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม แปรรูปอาหารทะเล/อาหารทะเลแช่แข็ง เครื่องจักรกล) รองมาคือ ประเทศเวียดนาม (แปรรูปอาหารทะเล/อาหารทะเลแช่แข็งอาหารแปรรูปประเภทสแน็ค/ขนมขบเคี้ยว)
ขณะที่สถานการณ์การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) พบว่า FDI ในไทย ปี 2562 มีมูลค่า 281,873 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 255,605 ล้านบาท) ซึ่งมูลค่าการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 261,706 ล้านบาท จาก 12,457 ล้านบาท ในปี 2558 โดยเพิ่มขึ้นแซงญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ เมื่อพิจารณารายสาขา มูลค่าการลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบกับปี 2558
FDI ใน สปป.ลาว ปี 2562 มีมูลค่า 7,963 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 กว่า 6 เท่า โดย 10 ปีผ่านมา (ปี2553 – 2562) ประเทศจีนมีโครงการลงทุนในลาวมากเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด แต่มูลค่าการลงทุนในปี 2558 จีนเป็นรองเวียดนาม สำหรับการลงทุนของไทยในลาว ปี 2562 ไทยลงทุนในลาวเป็นอันดับ 2 ทั้งนี้ ก่อนปี 2554 นักลงทุนต่างชาติอันดับ 1 คือประเทศไทย แต่หลังจากนั้น FDI ของจีนขึ้นเป็นอันดับ 1 แทนที่เม็ดเงินจากประเทศไทย และเวียดนาม ปัจจุบันจีนเป็นนักลงทุนและผู้สนับสนุนด้านการเงินอันดับหนึ่งของลาว โดยทั้งสองประเทศร่วมมือกันใน 5 เรื่องคือ การเชื่อมโยง ก่อสร้าง การเกษตรกรรม พลังงาน และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
FDI ในเวียดนาม ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนชาวเอเชีย ซึ่งปี 2562 FDI ในเวียดนามมีมูลค่า 16,746 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.8% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยมีโครงการใหม่ 3,883 โครงการ เพิ่มขึ้น 27.5% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยเกาหลีใต้เป็นผู้ลงทุนอันดับต้น ๆ ตั้งแต่ปี 2557 ส่วนไทยลงทุนในเวียดนามเป็นอันดับ 7 ในปี 2562 ซึ่ง 80% ของธุรกิจไทยที่ลงทุนในเวียดนาม เป็นภาคการผลิต และบางส่วนเข้าสู่การค้าปลีกโดยการเข้าซื้อกิจการ
FDI ในเมียนมา มูลค่าการลงทุนสะสมของเมียนมา ตั้งแต่ปี 2558 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ปี 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 83,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2558 โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ไทย ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมที่ต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในเมียนมามากที่สุดในปี 2562 สามอันดับแรก คือ กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มพลังงาน และอุตสาหกรรมการผลิต ตามลำดับ
FDI ในกัมพูชา ปี 2562 นักลงทุนต่างชาติที่มูลค่าการลงทุนมากที่สุดในกัมพูชาและเข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 คือ จีน ตามด้วย หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (BVI) ญี่ปุ่น และไทย โดยในช่วง 5 ปี (ปี 2558-2562) จีนเพิ่มเงินลงทุนในกัมพูชามากขึ้นถึง 334% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า เช่นเดียวกับไทยที่มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 24% ซึ่งในปี 2562 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (CIB) ได้อนุมัติโครงการลงทุนรวม 197 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโรงงานผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า และธุรกิจโรงแรม เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 63)
Tags: CLMV, กัมพูชา, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ลาว, อัทธ์ พิศาลวานิช, เวียดนาม