นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญนี้มาตั้งแต่ต้น และเห็นว่าควรมีการแก้ไขจึงได้เสนอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาล พร้อมกับมีข้อเสนอชัดเจนตั้งแต่แรกว่า ให้แก้มาตรา 256 ซึ่งอยู่ในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 บัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากมาก
ซึ่งขณะนี้ กมธ. วิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่มีกรรมาธิการจากเกือบทุกพรรคก็เห็นด้วย ส่วนการจะแก้ไขตรงไหน อย่างไร แต่ละพรรคก็มีข้อเสนอที่เหมือนกัน และก็มีที่แตกต่างกันบ้าง เพราะฉะนั้นทางพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านรวมไปถึงวิปของสมาชิกวุฒิสภา ควรไปประชุมปรึกษาหารือกันแต่ละฝ่าย และนำข้อเสนอที่สรุปร่วมกันของแต่ละฝ่ายมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ และทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและตัวแทนของสมาชิกวุฒิสภาได้นำข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทิศทางเดียวกันก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้
“เราต้องยอมรับความจริงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้จริง เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องพยายามแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สร้างความยอมรับที่เห็นพ้องต้องกันในประเด็นสำคัญๆ ที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้ โดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทุกรูปแบบ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จได้ตามความต้องการของทุกฝ่าย”
ส่วนกรณีที่ ส.ว. วันชัย สอนศิริ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้ ส.ว. มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นับเป็นเรื่องดีที่ ส.ว. มองเห็นจุดอ่อนของเรื่องนี้ที่ควรมีการแก้ไข เพราะในความเป็นจริง ถ้า ส.ว. ไปเลือกใครก็ตามที่รวบรวมเสียงได้ไม่ถึงครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นนายกฯ ก็คงไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้นาน เพราะจะไม่มีเสียงเพียงพอเกินครึ่งที่จะผ่านกฎหมาย หรือผ่านงบประมาณในสภาได้
อีกทั้งประเด็น ส.ว. เลือกนายกฯ ได้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมอยู่ในขณะนี้เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. ที่แสดงออกถึงการสืบทอดอำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ซึ่งทุกฝ่ายควรรับฟังและพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สำหรับข้อเสนอที่ให้ผู้นำเหล่าทัพมาเป็น ส.ว. โดยตำแหน่งนั้น ตนไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นที่มีการใส่เรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ให้ผู้นำเหล่าทัพมาเป็น ส.ว. ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเพื่อป้องกันการรัฐประหาร เพราะในอดีตที่ผ่านมาผู้นำเหล่าทัพที่เป็น ส.ว. ก็เคยทำการรัฐประหารมาแล้ว เพราะฉะนั้นการไม่มีผู้นำเหล่าทัพเป็น ส.ว. คงไม่มีผลกระทบอะไรกับการทำงานของ ส.ว. โดยรวม ควรให้ผู้นำเหล่าทัพไปทำหน้าที่ผู้นำเหล่าทัพเต็มกำลังความสามารถในกองทัพจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 63)
Tags: พรรคประชาธิปัตย์, รัฐธรรมนูญ, องอาจ คล้ามไพบูลย์, แก้ไขรัฐธรรมนูญ