นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ยังคงคาดหวังจะเห็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ออกหุ้นกู้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นอีก
โดยประโยชน์ที่ บจ.จะได้รับ คือ สามารถดึงดูดผู้ลงทุนยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเข้ามาเพิ่มขึ้น เป็นการขยายฐานผู้ลงทุนหน้าใหม่ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน (Cost of fund) ให้กับบจ.
ก.ล.ต.พยายามกระตุ้นให้ บจ.หันมาออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) หุ้นกู้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) มากขึ้น โดยได้ขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (filing) ออกไปจนถึง 31 พ.ค. 64 เพื่อจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนออกหุ้นกู้ดังกล่าวมากขึ้น
“ก.ล.ต.ยังคงให้ความสำคัญกับบรรษัทภิบาล ESG (Environmental, Social and Governance) อย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนหันมาให้ความสำคัญกับ ESG เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ซึ่งได้พยายามผลักดันและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนที่ต้องการระดมทุนคำนึงถึงความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมไปถึงสิ่งที่ก.ล.ต.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยมีมาตรฐานที่ดีในระดับสากล”
นางสาวจอมขวัญ กล่าว
ปัจจุบันมีหุ้นกู้ Green Bond, Sustainability Bond และ Social Bond ที่ บจ.เสนอขายไปแล้ว 8 ชุด มูลค่ารวมเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ กลุ่มธุรกิจพลังงาน ส่วนใหญ่เป็น Green Bond เช่น บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) รวมไปถึง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
ส่วนธนาคารพาณิชย์ของไทยมี 3 แห่ง คือ ธนาคารทหารไทย (TMB) ออก Green Bond, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ออก Social Bond และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ออก Sustainability Bond
ในด้านการส่งเสริมผู้ลงทุนของ ก.ล.ต.ได้มีการให้ความรู้ผู้ลงทุนให้เข้าใจเกี่ยวกับหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนทั้ง 3 ประเภทมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งส่งเสริมให้กองทุนต่างๆ หันมาลงทุนในหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับนักลงทุน เพราะกองทุนถือว่ามีบทบาทที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจ ซึ่งจะทำให้ ก.ล.ต.ขยายฐานผู้ลงทุนรายใหม่ๆได้ ทำให้การผลักดันหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนเห็นผลได้จริง และพัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น
นาย Cedric Rimaud CFA, Climate Bonds Initiative กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนเริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการยกระดับตลาดหุ้นให้ก้าวไปเทียบชั้นได้กับตลาดทุนในสหรัฐฯและยุโรป เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากการที่มีผู้ทยอยออกหุ้นกู้ความยั่งยืนของในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ และเวียดนาม โดยคิดเป็นสัดส่วน 3% ของมูลค่าหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนที่อยู่ในระบบทั้งหมด 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่กลุ่มประเทศที่มีการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มประเทศยุโรป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้การออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนอาจชะลอไปบ้างจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เพราะในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเกิดความผันผวนในตลาดตราสารหนี้หลังโควิด-19 ระบาดระลอกใหญ่ ทำให้นักลงทุนต่างไถ่ถอนตราสารหนี้และหุ้นกู้ออกมา ส่งผลกระทบมาถึงความไม่มั่นใจของผู้ออกตราสารหนี้ด้วย แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มที่ผู้ออกหุ้นกู้เพิ่อความยั่งยืนทยอยกลับมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่มาก ซึ่งเชื่อว่าการเติบโตของหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในอาเซียนจะยังมีอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงอย่างชัดเจนแล้ว
สิ่งที่สำคัญในการช่วยให้หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนขยายตัวขึ้นในภูมิภาคอาเซียน คือ การผลักดันของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลในประเทศอินโดนีเซียพยายามผลักดันให้ภาคเอกชนให้หันมาสนใจในการสร้างความยั่งยืนมากขึ้น และผลักดันการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนเพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุน รวมไปถึงประเทศไทยที่รัฐบาลได้เตรียมออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพื่อนำเงินมาใช้ส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวอย่างให้กับภาคเอกชนมีโอกาสทำตามมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ส.ค. 63)
Tags: Cedric Rimaud, ก.ล.ต., จอมขวัญ คงสกุล, หุ้นกู้