น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 และส่งผลต่อเนื่องมายังประเทศต่างๆ รวมถึงไทยว่า แม้ไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวรับมือกับสงครามการค้าได้พอสมควร สินค้าไทยมีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และจีน ได้ดี จึงขอให้ผู้ประกอบการไทยเร่งใช้โอกาสนี้ ใช้ประโยชน์จากกิจกรรมการส่งเสริมการส่งออกเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์
จากข้อมูลการค้าที่ผ่านมา ชี้ว่าไทยสามารถปรับตัวรับมือกับสงครามการค้า และใช้โอกาสนี้เป็นผู้ส่งออกสินค้าทดแทนให้ทั้งสหรัฐฯ และจีน ทำให้สินค้าไทยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นทั้งสองตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนสหรัฐฯ และจีนยังสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สงครามการค้าทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าเปลี่ยนไป การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลดลง การนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีน มีสัดส่วนลดลงจาก 21.84% ในปี 2560 (ก่อนเกิดสงครามการค้า) เป็น 18.39% ในปี 2562 และการนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนลดลงจาก 8.41% ในปี 2560 เป็น 5.95% ในปี 2562 และส่งผลต่อเนื่องมายังไทยและประเทศอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจีน เห็นได้จากความต้องการสินค้าไทยของจีนและประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ของจีน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ หดตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาตรการส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ และจีนมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ดี การส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นสงครามการค้า โดยในปี 2561 เติบโต 5.5% ในปี 2562 เติบโต 11.8% และครึ่งแรกของปี 2563 เติบโต 2.5% นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออกจากไทยไปจีนและประเทศในห่วงโซ่การผลิตจีน เช่น ฮ่องกง กลับมาขยายตัวที่ 5.8% และ 1.4% ตามลำดับ สะท้อนว่าผลของสงครามการค้าเบาบางลง ผู้ประกอบการในห่วงโซ่เริ่มปรับตัวได้มากขึ้น
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวด้วยว่า การที่สหรัฐฯ และจีนต่างต้องปรับโครงสร้างการค้า แสวงหาแหล่งนำเข้าใหม่ ส่งผลให้ไทยได้โอกาสจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) ส่งออกสินค้าทดแทนได้มากขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งของไทยในทั้ง 2 ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สินค้าไทยครองส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น จาก 1.26% ในปี 2561 เป็น 1.34% ในปี 2562 และ 1.63% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งในตลาดจีนก็เพิ่มขึ้นจาก 2.13% ในปี 2561 เป็น 2.23% ในปี 2562 และ 2.42% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563
สินค้าไทยที่เติบโตดีในสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นี้ (เรียงตามมูลค่าการส่งออก) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+29.4%) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+300.1%) อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป (+18.7%) ข้าว (+34.3%) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+41.8%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (+147.4%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+36.3%) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+22.0%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น (+17.2%)
สำหรับสินค้าไทยที่เติบโตดีในจีน อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง (+37.5%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+66.2%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+25.3%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+146.3%) ทองแดง (+93.9%) แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า (+19.9%) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (+62.0%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+195.7%) เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกเหนือจากความสามารถในการทดแทนสินค้าจีนหรือสหรัฐฯแล้ว การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวดี ยังได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการสินค้าที่ตอบโจทย์ความมั่นคงอาหาร หรือพฤติกรรมการท้างานหรืออยู่ที่บ้านของผู้บริโภคในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย
น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวด้วย สงครามการค้ายังทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุน (Investment Diversion) หลายรูปแบบ ทั้งการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศตัวเองหรือใกล้เคียง (Re-Shoring/Near-Shoring) การย้ายฐานการผลิตเข้าใกล้ตลาด ตลอดจนการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศใกล้เคียงที่มีศักยภาพ
ประเทศไทยเองก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งสหรัฐฯ และจีนมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในไทยที่เติบโตขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสงครามการค้า โดยก่อนมีสงครามการค้า (ปี 2560) มูลค่าขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ขณะที่หลังจากมีสงครามการค้า (ปี 2561 และ 2562) มูลค่าขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ประมาณ 5.1-5.4 แสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะสหรัฐฯ เป็นผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในปี 2561 (คิดเป็น 57% ของเงินลงทุนต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด) ขณะที่จีนเป็นผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในปี 2562 (คิดเป็น 52%)
กระแสการย้ายฐานการลงทุนที่เกิดขึ้น ยังช่วยส่งเสริมการส่งออกไทย แม้มูลค่าจะยังไม่มาก แต่เห็นแนวโน้มที่บริษัทต่างชาติหลายรายใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกได้มากขึ้นตั้งแต่ปี 2561 จากเดิมที่ไม่ส่งออกเลยหรือการส่งออกหดตัว เช่น บริษัทจีนในไทย สามารถส่งออกสินค้ากลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกและผลิตภัณฑ์ไม้ เพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัทสหรัฐฯ ส่งออก ยานพาหนะและส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน/ออฟฟิศ และอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มขึ้น
โดยในตลาดสหรัฐฯ จะมุ่งผลักดันสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อเมซอนดอทคอม (Amazon.com) การจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ และการจัดงานแสดงสินค้าออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งส่งเสริมสินค้าเกษตร อาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ ในเมืองที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น ชิคาโก ไมอามี ลอสแอนเจลิส
ขณะที่ตลาดจีน จะเร่งผลักดันสินค้าไทยสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เถาเป่า (Taobao) ควบคู่กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอาหารไทย ผ่านร้านอาหารที่มีตราสัญลักษณ์ไทยซีเล็คท์ (Thai Select) การส่งเสริมสินค้าผลไม้และสินค้าอื่นๆ ผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ ในเมืองที่มีศักยภาพ เช่น หนานหนิง ต้าเหลียน คุนหมิง อีกทั้งยังมีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงตลาดทั่วโลกอื่นๆ อาทิ กิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (STYLE Bangkok Telematching in Lifestyle Online Virtual Exhibition – L.O.V.E.) ในกลางเดือนสิงหาคม 2563 หรืองานแสดงสินค้าที่ผสานทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ของกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (งาน Thaifex – Anuga ASIA 2020 “The Hybrid Edition”) ในเดือนก.ย.นี้
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างมหาอานาจ ยังเป็นโอกาสที่ไทยควรเร่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถการค้าไทยในอนาคต ทั้งจากนักลงทุนสหรัฐฯ และจีน รวมถึงนักลงทุนประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะยังคงลงทุนในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพ รวมถึงไทย
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน และประเด็นที่ส่งผลต่อการส่งออกไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ การบังคับใช้ข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะประเด็นเชิงโครงสร้าง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยี ที่จีนต้องปฏิบัติตามนอกเหนือจากการซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นชนวนความขัดแย้ง เช่น สิทธิมนุษยชน และการปกครองฮ่องกง รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และนโยบายการต่างประเทศในภาพรวมของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจการค้าและนโยบายในหลายประเทศ และอาจถูกสหรัฐฯ ใช้เป็นเหตุผลเพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ กับจีนในอนาคตด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ส.ค. 63)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การส่งออก, จีน, พิมพ์ชนก วอนขอพร, สงครามการค้า, สนค., สหรัฐ, สินค้าไทย