บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) คาดว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนปะทุขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้โรงกลั่นและโรงปิโตรเคมีในบางประเทศลดกำลังการผลิตลงเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่หายไปจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง
ขณะที่คาดการณ์แนวโน้มตลาดน้ำมันในครึ่งปีหลังว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่เฉลี่ย 42-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ามันโลกในปี 63 อยู่ที่ระดับ 92.1 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลง 7.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากปีที่ผ่านมา ซึ่งดีขึ้นจากการประเมินในไตรมาสก่อน 2 ล้านบาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ดี จากตลาดน้ำมันดิบในครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่อาจยืดเยื้อจนส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของโลกจนเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันได้
ในครึ่งหลังของปี 63 สถานการณ์ราคาและส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจะยังคงได้รับปัจจัยกดดันส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน และน้ำมันแก๊สโซลีนลดลง แต่มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างราคาดีเซลกับน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 8-9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนต่างราคาน้ำมันเตากำมะถันต่ำ (Low Sulfur Fuel Oil: LSFO) กับน้ำมันดิบดูไบครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 7-8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และความต้องใช้น้ามันเตาเกรดกำมะถันสูง (High Sulfur Fuel Oil: HSFO) ยังคงลดลง โดยคาดการณ์ส่วนต่างราคา HSFO กับน้ำมันดิบดูไบครึ่งปีหลังอยู่ที่ -6 ถึง -5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ขณะที่น้ำมันแก๊สโซลีนยังได้รับปัจจัยกดดันจากระดับสินค้าคงคลังที่สูงและปริมาณการผลิตยังสูงจากโรงกลั่นในภูมิภาคอเมริกาเหนือ คาดการณ์ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ครึ่งปีหลังอยู่ที่ 6-7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการปรับลดการผลิตน้ำมันอากาศยานที่มีแนวโน้มอุปสงค์ที่ปรับตัวลดลงและผลิตน้ำมันดีเซลที่ยังมีความต้องการที่ดีอยู่ทดแทน บริษัทคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตทั้งปีได้เต็มกำลังที่ 101%
ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสในด้านราคาผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ด้านการผลิตยังคงเป็นไปตามแผน แนวโน้มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ คาดว่าส่วนต่างพาราไซลีนกับแนฟทาในครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 160-220 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากมีอุปทานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายใหม่
ขณะที่อุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรมปลายน้ำ เส้นใยและสิ่งทอ (Fiber Filament) กรดเทเรฟทาริคบริสุทธิ์ (PTA) โดยเฉพาะขวดบรรจุภัณฑ์ (PET Bottle Resin) อาจชะลอตัวเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น ด้านส่วนต่างราคาเบนซีนและแนฟทาจะอยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากอุปทานใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4/63 ขณะที่ความต้องการจากผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เช่น สไตรีนโมโนเมอร์และฟีนอลยังคงทรงตัว
PTTGC ระบุว่าในปีนี้บริษัทมีแผนการปิดซ่อมบารุงเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของหน่วยผลิตอะโรเมติกส์ 2 ในไตรมาส 3/63 คาดการณ์การใช้กำลังการผลิตของปี 63 อยู่ที่ 92%
ด้านแนวโน้มของสถานการณ์ผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มทรงตัวจากครึ่งปีแรก จากการคาดการณ์ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่ในปี 63 รวมทั้งราคาน้ำมันดิบดีขึ้นเล็กน้อย คาดว่าราคาเฉลี่ยเม็ดพลาสติก HDPE ในครึ่งปีหลังจะอยู่ราว 830-910 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ในขณะที่สถานการณ์ราคา MEG คาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวจากครึ่งปีแรก ปัจจัยสำคัญมาจากปริมาณอุปทานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์การใช้งานของตลาดผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยังคงเติบโตได้ บริษัทคาดว่าราคา MEG (ASP) ในครึ่งปีหลังเฉลี่ยอยู่ที่ 420-480 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ทั้งนี้ ในปี 63 คาดการณ์การใช้กำลังการผลิตของธุรกิจโอเลฟินส์จะอยู่ที่ 97% จากการปิดซ่อมบารุงที่แล้วเสร็จไปในไตรมาส 1/63 และคาดการณ์การใช้กำลังการผลิตของธุรกิจโพลิเมอร์จะอยู่ที่ 101%
PTTGC รายงานผลประกอบการในไตรมาส 2/63 มีรายได้จากการขายรวม 69,271 ล้านบาท ลดลง 26% จากไตรมาส 1/63 และลดลง 35% จากไตรมาส 2/62 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันและการกลับรายการมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ
กำไรทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง) อยู่ที่ 1,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1,128 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25% โดยมี Adjusted EBITDA อยู่ที่ 6,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาส 1/63 แต่ลดลง 15% จากไตรมาส 2/62
อย่างไรก็ดี บริษัทรับรู้ผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันและการกลับรายการมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (Stock Loss Net Reversal of NRV) เป็นผลขาดทุนรวม 899 ล้านบาท รวมทั้งผลการขาดทุนตราสารอนุพันธ์ 340 ล้านบาท และจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสจึงส่งผลให้บริษัทมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,501 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิรวม 1,671 ล้านบาท (0.37 บาท/หุ้น) สูงขึ้นจากไตรมาส 1/63 ราว 119% แต่ลดลง 24% จากไตรมาส 2/62
ในไตรมาสนี้ บริษัทใช้กำลังการผลิตได้เต็มกำลังการผลิตในทุกหน่วยธุรกิจหลัก โดยเฉพาะโอเลฟินส์และโพลิเมอร์ได้กลับมาดำเนินการผลิตได้เต็มที่ หลังจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ปริมาณการขายปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวลดลงจากการชะลอตัวของอุปสงค์ของโลก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานและน้ำมันแก๊สโซลีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เผชิญสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ปรับลดลงตามการปรับลดลงของอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์หลัก
ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับรูปแบบการผลิตโดยปรับลดปริมาณการผลิตน้ามันอากาศยานและเปลี่ยนไปผลิตเป็นน้ามันดีเซลตามภาวะความต้องการน้ามันอากาศยานที่ลดลงเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งโดยรวมได้ส่งผลให้ธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่น (GRM) อยู่ที่ 2.31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับธุรกิจอะโรเมติกส์มีส่วนต่างผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ (BTX P2F) สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 163 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 176 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พาราไซลีนกับราคาคอนเดนเสท และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่เพิ่มขึ้น จากการปรับลดลงของราคาวัตถุดิบคอนเดนเสทตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้
ขณะที่ธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีผลประกอบการที่ดีขึ้น แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) เฉลี่ยลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ปริมาณการขายปรับตัวสูงขึ้นจากการกลับมาดำเนินการผลิตเต็มที่ ทำให้ Adjusted EBITDA Margin ในไตรมาสนี้ขึ้นจาก 9% เป็น 11%
ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน 807 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักเป็นผลจากธุรกิจโพลีโพรพิลีน (PP) ดีขึ้น ขณะที่ผลประกอบการในส่วนของธุรกิจไบโอพลาสติกที่ดำเนินการผ่านบริษัท Natureworks ในสหรัฐปรับตัวดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ส.ค. 63)
Tags: PTTGC, น้ำมัน, น้ำมันดิบ, ปิโตรเคมี, ปิโตรเลียม, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, หุ้นไทย