ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ค. อยู่ที่ 50.1 ฟื้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. 63 อยู่ที่ 50.1 จาก 49.2 ในเดือนมิ.ย.63 โดยดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 หลังจากมีการการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์กิจการเพิ่มเติม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 42.6 จาก 41.4 ในเดือนมิ.ย. 63

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 48.4 จาก 47.6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.3 จาก 58.6

โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 ให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้, รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ, ราคาน้ำมันในประเทศยังทรงตัว

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19, กระทรวงการคลังปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 หดตัว -8.5%, ความกังวลด้านสถานการณ์การเมืองและการชุมนุมทางการเมือง, รัฐบาลขยายเวลาใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ, ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจจะชะลอตัว รวมถึงกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้า และ การส่งออกในเดือนมิ.ย.ที่หดตัว -23.17% และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนก.ค.นี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังคงอยู่ในช่วงที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 10 เดือน

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ที่เป็นระดับปกตินั้น แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งจะกระทบในเชิงลบเป็นอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์ คาดว่า ผู้บริโภคจะยังชะลอการจับจ่ายใช้สอยไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง และมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง พร้อมกับที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

“ในช่วงไตรมาส 2 ถือว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในช่วงต่ำสุดแล้ว ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิดรอบแรก และผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น ทำให้ยังชะลอการใช้จ่ายไปจนถึงสิ้นปี ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่มากระตุกให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความโดดเด่น ก็จะไม่มีการจับจ่ายเพิ่มขึ้น”

นายธนวรรธน์กล่าว

พร้อมระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือ ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งพบว่าลดลงต่อเนื่องมาเกือบ 1 ปี โดยผู้บริโภคมีความกังวลต่อความสัมพันธ์ภายในรัฐบาล ความแน่นแฟ้นของของพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนมีการแสดงความเห็นทางการเมืองต่อรัฐบาล และตัวผู้นำรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของประเทศ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

นายธนวรรธน์ เห็นว่ารัฐบาลควรกระตุ้นการใช้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 3 นี้ ราว 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากงบเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและงบค้างท่อ รวมถึงไตรมาส 4 อีกราว 2-3 แสนล้านบาท ที่มาจาก 4 แสนล้านบาท ใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบกจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท)

รวมทั้งเร่งกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ลงไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการปลดคนงานที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับ 1-2 ล้านคน และจะยิ่งเป็นการฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ลดลง ทำให้คนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ส.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top