“สมคิด” ฝาก กสทช. กระทรวงดิจิทัล ค่ายมือถือ ขยายผล 5G ให้เกิดประโยชน์สูงสุด, ADVANC ชงบอร์ดเคาะต้น ก.พ.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี 5G ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และผู้ประกอบการค่ายมือถือจำนวน 5 ราย ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC), บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE), บมจ.ทีโอที (TOT) และบมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT)
นายสมคิด กล่าวว่า การหารือในวันนี้ได้มีการกำชับกับสำนักงาน กสทช. กระทรวงดิจิทัลฯ และผู้ประกอบการค่ายมือถือ เรื่องของการขยายผลเทคโนโลยี 5G ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก โดยทาง กสทช. และกระทรวงดิจิทัลฯ จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนและต่อยอด 5G ไม่ใช่เป็นภาระของผู้ประกอบการค่ายมือถือเพียงฝ่ายเดียว
ทั้งนี้ มองว่าเทคโนโลยี 5G มีความจำเป็นอย่างมาก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในวงการอุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรม หากการประมูลเกิดความล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ จะส่งผลทำให้การลงทุนของต่างชาติย้ายไปในประเทศที่มีความพร้อมกว่าประเทศไทยได้ โดยการประมูล 5G ที่จะเกิดขึ้นในเดือนก.พ.นี้ ทาง บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ก็จะเข้าร่วมการประมูลด้วย
“เรื่องการประมูล กสทช.ได้เสนอให้นายกฯตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ 5G แล้ว เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจและสังคมได้ประโยชน์สูงสุด โดยการประมูลครั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่า ไม่อยากให้ดูที่ราคาประมูล แต่อยากให้มองว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศได้อย่างไร เพราะการลงทุนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยได้อย่างมาก” นายสมคิด กล่าว
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประมูล 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนต่อยอดภายหลังการประมูล 5G คิดเป็นมูลค่า 1.9-2 พันล้านบาท จากที่ปีนี้ค่ายมือถือต่างๆ มีการแจ้งการลงทุนรวมคิดเป็น มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท และน่าจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 63 ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี)
นอกจากนี้ กสทช.กำหนดการประมูล 5G ในวันที่ 4 ก.พ.63 เป็นวันยื่นความจำนงค์พร้อมวางหลักประกัน และวันที่ 16 ก.พ.63 เป็นวันเคาะราคาประมูล หลังจากนั้นคาดจะส่งมอบใบอนุญาตฯ ได้ภายในปลายเดือน ก.พ.นี้ เงื่อนไขผู้เข้าประมูลจะต้องมีการลงทุนโครงข่ายในพื้นที่ EEC นอกเหนือจากการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งาน 5G ในช่วงเดือน ต.ค. 63
ส่วนแนวทางในการผลักดันการประมูล 5G ให้สำเร็จได้นั้น ขณะนี้กสทช.ได้มีการเจรจากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว เพื่อเพิ่มเครดิตเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการค่ายมือถือรองรับการลงทุน 5G ในครั้งนี้ โดยทาง ธปท.น่าจะมีการประสานงานกับทางธนาคารพาณิชย์ให้มีการปล่อยสินเชื่อต่อไป
ปัจจุบันมีโอเปอเรเตอร์ รวม 5 รายที่เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ 5G ประกอบด้วย บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือ DTAC, บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ TRUE, CAT, TOT และ และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิว เอ็น) ในเครือ ADVANC
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการเข้าประมูลโครงข่าย 5G โดยน่าจะมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้กับทางคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาตัดสินใจอีกครั้งในช่วงต้นเดือน ก.พ.63
พร้อมกันนี้จากการที่ได้มีการหารือกับทางนายสมคิด และกสทช.ได้มีการนำข้อเสนอกับทางรัฐบาล โดยอยากให้ทางภาครัฐมีการสนับสนุนทางผู้ประกอบการค่ายมือถือในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านเงินทุน (subsidize) ซึ่งเหมือนกับในประเทศจีน และเกาหลี ที่รัฐบาลมีการสนับสนุนด้านเงินทุนให้ราว 20%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 63)
Tags: 5G, ADVANC, CAT, DTAC, TOT, TRUE, กสทช, ดีแทค, ทีโอที, แอดวานซ์