บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่าในปี 63 บริษัทตั้งงบลงทุนโครงข่าย 4G,5G และอินเทอร์เน็ตบ้าน ประมาณ 35,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าคลื่นความถี่)
พร้อมคาดการณ์แนวโน้มรายได้หลักในการให้บริการ ในปีนี้ ลดลงในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ และกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำเช่นเดียวกัน
ADVANC ระบุว่าแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัว แต่แนวโน้มธุรกิจในครึ่งหลังของปี 63 ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งจากอัตราการว่างงานที่อาจเพิ่มสูงขึ้น การหดตัวของภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อแนวโน้มของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและรายได้จากการให้บริการของบริษัท
ดังนั้น เอไอเอสจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ของบริษัท
สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้จะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 63 แต่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวและการแข่งขันด้านราคาในตลาด อย่างไรก็ตาม เอไอเอสยังคงขยายช่องการจัดจำหน่ายทางดิจิทัลต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้นในสภาวะใหม่ (New Normal) และแม้จะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด
บริษัทยังคาดว่ารายได้ของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะหดตัวในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ (Low-single digit) เทียบการคาดการณ์ GDP -7% ถึง -8% และมุ่งเน้นที่จะคงความสามารถในการแข่งขันด้วยการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเชิงรายได้ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
ในขณะที่ธุรกิจเอไอเอส ไฟเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตบ้านได้รับผลบวกจากกระแสการทำงานจากบ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และคาดว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในครึ่งหลังของปีไปสู่เป้าหมายผู้ใช้บริการ 1.35 ล้านรายภายในปี 63 อย่างไรก็ตาม ARPU ยังคงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงด้วยแพ็คเกจราคาต่ำ เอไอเอสจึงให้ความสำคัญในการขยายตลาดจากฐานลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอส โดยให้บริการแพ็คเกจแบบรวม
ซึ่งประกอบด้วย อินเทอร์เน็ตบ้าน บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และดิจิทัลคอนเทนท์ เพื่อเพิ่มรายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อครัวเรือน (ARPH) นอกจากนี้ยังนำเสนอสินค้าและบริการซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เพื่อรักษาระดับราคาเหนือคู่แข่ง และหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาเพียงด้านเดียว
ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรยังคงเติบโตตามกระแสดิจิทัลจากความต้องการที่สูงขึ้นขององค์กรซึ่งต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่กระบวนการดิจิทัล ซึ่งธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรส่วนที่ไม่ใช่บริการโทรศัพท์ (Enterprise non-mobile) มีสัดส่วนประมาณ 3% ของรายได้หลักในการให้บริการ และคาดว่าจะเติบโตในอัตราเลขสองหลักในปี 63 เ
ขณะเดียวกันเอไอเอส จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง และลงทุนเพื่อการเติบโตในเชิงกลยุทธ์ เพื่อรักษากระแสเงินสดจากการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไร เอไอเอสให้ความสำคัญในการบริหารจัดการต้นทุนทั้งต้นทุนการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และคาดการณ์ว่า EBITDA จะหดตัวในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ
อย่างไรก็ตามเอไอเอส ยังลงทุนเพื่อขยายโครงข่าย 4G และ 5G รวมถึงธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน คงความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมในระยะยาวด้วยงบลงทุนประมาณ 35,000 ล้านบาท ซึ่งได้ปรับลดลงจาก 35,000-40,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่การบริโภคยังคงอ่อนตัว
แต่ยังคงเป้าหมายการขยายพื้นที่ให้บริการ 5G ให้ครอบคลุม 13% ของประชากร และ 50% ของประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯภายในปี 63 โดยการลงทุนบนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยอุปกรณ์โครงข่ายแบบผสมผสานเทคโนโลยี (Multi-technology) ที่รองรับบริการทั้ง 4G และ 5G บนอุปกรณ์ชุดเดียวกัน จะช่วยรองรับความต้องการใช้งานดาต้าที่สูงขึ้น และยังช่วยขยายบริการ 5G สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง โดยบริษัทจะยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดเป็นบวกหลังหักค่าใช้จ่ายในการลงทุน
เอไอเอสยังให้ความสำคัญต่อการรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งและมีความคล่องตัวเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต นโยบายการจ่ายเงินปันผลจะจ่ายไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ โดยนโยบายการจ่ายเงินปันผลนี้จะทำให้เอไอเอสมีกระแสเงินสดเพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเป็นผู้นำตลาด ความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ รวมถึงพร้อมรับต่อสภาวะการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลง
เอไอเอสยังคงการจ่ายเงินปันผลปีละสองครั้งจากผลการดำเนินงานบริษัทและกำไรสะสมบนงบการเงินเฉพาะกิจการ ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลในทุกกรณี จะขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดและแผนการลงทุน รวมถึงความจำเป็นและความเหมาะสมอื่นๆ ในอนาคตของบริษัทและ/หรือบริษัทย่อย และการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องไม่เกินกำไรสะสมที่ปรากฏในงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทและ/หรือมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานปกติของบริษัทและบริษัทย่อย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 63)
Tags: ADVANC, AIS, สมชัย เลิศสุทธิวงค์, เอไอเอส, แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส