นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ช.การช่าง (CK) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเห็นการพลิกกลับมาเป็นบวก จากปัจจัยหนุนที่มาจากบริษัทลูกของบริษัท ได้แก่ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่แนวโน้มของจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และผู้ใช้ทางด่วนเริ่มกลับมามากขึ้นตั้งแต่ผ่อนคลายล็อกดาวน์
และจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง ทำให้ผลประกอบการของ BEM กลับมาฟื้นตัวขึ้นมาใกล้เคียงกับภาวะปกติหลังจากที่ได้รับผลกระทบในช่วง”อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”ลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/63 ต่อเนื่องมาถึงช่วงล็อกดาวน์ไนไตรมาส 2/63 ทำให้ผลประกอบการของ BEM ได้รับผลกระทบในครึ่งปีแรก และจะกลับมาฟื้นขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะเดียวกัน ธุรกิจในเครือที่ได้รับประโยชน์จากโควิด-19 คือ บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) จากการที่คนส่วนใหญ่อยู่บ้านทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลบวกต่อโรงไฟฟ้าของ CKP รวมไปถึงในปีนี้จะเป็นปีแรกที่โรงไฟฟ้าไซยะบุรี สปป.ลาว ที่ CKP เข้าไปลงทุนจะรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปี ทำให้ผลการดำเนินงาน CKP ในปีนี้จะเติบโตก้าวกระโดด และส่งผลบวกมายัง CK ด้วย
ส่วน บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) หลังจากโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งกลับมาเปิดการผลิต ทำให้ความต้องการใช้น้ำกลับมาเพิ่มขึ้น และในช่วงที่ล็อกดาวน์ที่คนทำงานที่บ้านก็เป็นผลบวกต่อการใช้น้ำในกลุ่มครัวเรือนเพิ่มขึ้น ช่วยหนุนผลการดำเนินงานของ TTW ได้บ้าง ซึ่งยังมองว่า TTW ยังมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มาก ทำให้ยังสามารถช่วยหนุนภาพรวมของ CK ได้ต่อเนื่อง
ส่วนธุรกิจหลักของ CK คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถือว่าไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่บริษัททำอยู่ยังคงเป็นไปตามแผน ปัจจุบันบริษัทมีงานก่อสร้างในมือกว่า 30 โครงการ มูลค่างานในมือ (Backlog) รวม 3.85 หมื่นล้านบาท ซึ่งงานส่วนใหญ่รองรับการรับรู้รายได้ในช่วง 1 ปีครึ่ง-2 ปี แต่จะมีงานบางโครงการทยอยส่งมอบและรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้มั่นใจว่าภาพรวมผลงานของบริษัทจะพลิกเป็นบวก
“โควิด-19 เรายืนยันว่าไม่กระทบต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท เรายังคงเร่งทำงานให้สามารถส่งมอบได้ตามกำหนด พร้อมการบริหารความเสี่ยงไปควบคู่กัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบของงานก่อสร้าง แต่ในส่วนของบริษัทลูก โดยเฉพาะ BEM ที่ดำเนินธุรกิจ Mass Transit ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคนใช้รถไฟฟ้าและทางด่วนน้อย เพราะทำงานอยู่บ้าน ตามมาตรการความร่วมมือกับภาครัฐ ทำให้กระทบกับธุรกิจของ BEM และส่งผลมาถึงส่วนแบ่งกำไรที่มาจาก BEM ลดลง ทำให้ไตรมาส 1 ทีผ่านมาผลงานของ CK ขาดทุน และหลังจากเปิดล็อกดาวน์มาแล้ว ธุรกิจ BEM ก็ค่อยๆฟื้นกลับมาตามจำนวนผู้ไช้รถไฟฟ้าและทางด่วนที่กลับมาเพิ่มขึ้น ส่วน CKP และ TTW ก็ยังช่วยหนุนผลงานให้กับบริษัทได้ โดยเฉพาะ CKP ที่ปีนี้จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีเข้ามาเต็มปี”
นางสาวสุภามาส กล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 มองว่าส่งผลกระทบต่อการเปิดประมูลโครงการใหม่ๆ เป็นหลัก ทำให้แผนการประมูลอาจจะล่าช้าไปบ้าง และการที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา อาจจะทำให้หน่วยงานต่างๆ หรือผู้ประกอบการชะลอแผนการลงทุนใหม่ๆ ออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์ให้กลับมาดีก่อน
แต่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยยังคงต้องพึ่งพาการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในภาวะที่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลัก คือ ภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาฟื้นตัว ทำให้มองว่าภาครัฐจะเร่งผลักดันโครงการที่ภาครัฐลงทุนเอง และโครงการที่ให้เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุน (PPP) ออกมามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปถึงปี 64 ซึ่งบริษัทมีความพร้อมที่เข้าร่วมประมูล
โดยเฉพาะโครงการด้านคมนาคมคาดว่าจะมีการเร่งผลักดันออกมาค่อนข้างมาก หลังจากล่าสุดบริษัทได้เข้าซื้อซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก คาดว่าในช่วงปลายเดือนก.ย.นี้จะประกาศผลการประมูล และยังมีงานโครงการภาครัฐอี่นๆ ที่บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูล เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง โครงการมอเตอร์เวย์ และงานอุโมงค์ต่างๆ คาดว่าจะทยอยเปิดประมูลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ไปถึงปี 64 มูลค่างานรวมกว่า 2-3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการรอข้อสรุปของรัฐบาลลาวในการพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในลาว ภายใต้การดำเนินงานของ CKP ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปและเซ็นสัญญาให้ CKP ดำเนินโครงการด่งกล่าวในช่วงปลายปี 63 ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีขนาดใหญ่กำลังการผลิต 1,000-1,500 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าไซยะบุรี หรือกว่า 1 แสนล้านบาท
และมูลค่างานก่อสร้างที่ CK จะได้รับมาก็มีมูลค่าใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าไซยะบุรี คือ 9.5 หมื่นล้านบาท โดยหากมีความชัดเจนของโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในลาวออกมาในช่วงปลายปีนี้ จะส่งผลให้ Backlog ของ CK เพิ่มขึ้นไปแตะ 1 แสนล้านบาทในสิ้นปีนี้
ขณะเดียวกันในส่วนของ BEM มีโอกาสที่เข้าไปรับงานก่อสร้างทางด่วนในเมียนมา ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจของ BEM ในต่างประเทศที่อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ ทำให้บริษัทยังมีโอกาสที่จะขยายงานรับเหมาก่อสร้างได้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้าง Backlog ให้กลับมาในระดับแสนล้านบาทเหมือนในช่วงอดีตได้ ทำให้สามารถคาดการณ์รายได้ที่จะเข้ามาในอนาคตได้และเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท
“Backlog ของบริษัทที่ลดลงมาต่อเนื่องในหลายปีติดต่อกัน ก็เป็นไปตามโครงการที่ได้งานมาทยอยสร้างเสร็จและส่งมอบ และที่ผ่านมาก็ไม่มีงานโครงการขนาดใหญ่ อย่างที่เคยมีในอดีต คือ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี เข้ามา ทำให้ Backlog ของ CK ไม่ถึงแสนล้านมานาน ซึ่งก็เป็น Cycle ปกติของธุรกิจ และงานใหม่ๆที่ผ่านมาก็มีไม่มาก แต่ในปีนี้แนวโน้มของงานก็จะออกมามากขึ้น ทำให้เราพร้อมเดินหน้าประมูลงาน เพื่อรักษาระดับ Backlog ให้กลับมาในระดับแสนล้านทำให้เรามีรายได้รองรับเข้ามาในอนาคต”
นางสาวสุภามาส กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 63)
Tags: BEM, CK, CKP, TTW, ช.การช่าง, ซีเค พาวเวอร์, ตลาดหุ้นไทย, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, ทีทีดับบลิว, สุภามาส ตรีวิศวเวทย์, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้า