หันพึ่งพาเครื่องมืออื่นฟื้นเศรษฐกิจ
ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน (Economic Intelligence Center :EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 63 หลังจากมีมติเอกฉันท์เมื่อวานนี้ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม
EIC ระบุว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (stalling economic recovery) และมาตรการสนับสนุนที่ทยอยหมดอายุลง (fiscal cliff) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น
โดยดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในเดือน มิ.ย.63 หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในด้านต่างประเทศ การส่งออกของไทย (ไม่รวมทองคำและอาวุธ) ในเดือน มิ.ย.63 หดตัวน้อยลงเช่นกันจาก -27.8%YOY ในเดือน พ.ค.63 เป็น -17.3%YOY ในเดือน มิ.ย.63
อย่างไรก็ดี เมื่อดูตัวเลขข้อมูลความถี่สูง (high frequency data) พบว่าเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยข้อมูล Google mobility index บ่งชี้ว่า หลังจากที่เริ่มมีการทยอยเปิดเมือง ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และฮ่องกง ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น ทำให้ในเดือน ก.ค.ภาครัฐชะลอการเปิดเมืองและส่งผลกระทบให้การฟื้นตัวของการเดินทางในหลายประเทศเริ่มปรับชะลอลง สอดคล้องกับข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในสหรัฐฯ การเข้ารับประทานอาหารในร้าน และดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ชะลอลงเช่นกัน
นอกจากนี้ มาตรการสนับสนุนที่หมดอายุลงก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้สิ้นสุดลงในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของความเร็วในการต่ออายุมาตรการและขนาดของมาตรการใหม่ จึงอาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปี
เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และความเสี่ยงที่มีอยู่มากจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 0.5% ต่อไป และน่าจะหันไปพึ่งพาเครื่องมือเชิงนโยบายอื่นมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
หลังจากการประชุม กนง.ครั้งถัดไปในวันที่ 23 ก.ย.63 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิก กนง. จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนับตั้งแต่เข้ามาเป็นสมาชิก กนง.ในปี 57 นายเศรษฐพุฒิได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินค่อนข้างมาก โดยจะเน้นย้ำถึงผลกระทบจากการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเปราะบางทางการเงินผ่านพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) และการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risk)
อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่าด้วยเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ประกอบกับความเสี่ยงในระยะต่อไปยังมีอยู่มาก ทำให้ กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 0.5% ต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ โดย กนง. จำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy space) ไว้ เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเครื่องมือเพื่อการออมของไทยที่มีอยู่จำกัด
โดยการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะถัดไป จะหันมาพึ่งเครื่องมือเชิงนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย(non-policy rate measures) มากขึ้น เช่น การเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (Financial Institutions Development Fund: FIDF fee) เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 63)
Tags: SCB EIC, กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ดอกเบี้ย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธปท., อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจไทย