นายเกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) หรือ CGS-CIMB กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้นับว่ามีความน่าสนใจลดลง จากแรงส่งที่ผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้ฟื้นตัวมีอยู่ค่อนข้างน้อย
แม้ว่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม แต่ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวกลับมา ทำให้ภาพของพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังถูกระทบค่อนข้างมากและมีอัพไซด์จำกัด
ขณะที่นับตั้งแต่ต้นปีดัชนี SET ติดลบราว 16% แต่มูลค่าของตลาดหุ้นไทยถือว่าอยู่ในระดับที่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในต่างประเทศ หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปจุดต่ำสุดในช่วงกลางเดือน มี.ค.63 และพลิกฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว จากแรงซื้อของนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันในประเทศ
แต่เมื่อกลับมามองที่กำไรบริษัทจดทะเบียนจะเห็นว่าภาพรวมมีกำไรที่ลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยปีนี้ลดลง 30% และมีกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 59 บาท/หุ้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีภาพที่ค่อนข้างแพง และยังไม่น่าสนใจเข้าลงทุนในช่วงนี้ สะท้อนไปถึงภาพของนักลงทุนต่างชาติที่ยังชะลอเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทำให้ขาดแรงหนุนช่วยผลักดันดัชนีให้ไปต่อได้ โดยมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1,310 จุด ที่ระดับ Forword P/E 17.5 เท่า
ส่วนคำแนะนำในการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ยังสามารถลงทุนได้จะเน้นไปที่กลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการบริโภคในประเทศ เช่น กลุ่มอาหาร และกลุ่มค้าปลีก และกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการปรับตัวให้กับ New Normal ที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่มสื่อสาร เป็นต้น ส่วนกลุ่มหุ้นที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงและระมัดระวัง ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันเข้ามามากจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงแรง ความกังวลเกี่ยวกับหนี้เสีย และมาตรการต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เข้ามากดดันผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มพลังงาน น้ำมันและปิโตรเคมี ที่มีความผันผวนจากราคาน้ำมันที่ไม่แน่นอน รวมถึงความไม่แน่นอนของอุปทานจากผู้ผลิตและอุปสงค์จากผู้ใช้ในภาวะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย
“ตั้งแต่ต้นปีพบว่ามีนักลงทุนใหม่ที่ไม่เคยลงทุนในหุ้นมาเปิดบัญชีลงทุนหุ้น จากการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยต่ำกว่า 1,000 จุด และ rebound ทำให้มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามา ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรกคึกคัก เพราะมีโอกาสที่รายย่อยเข้าซื้อขายทำกำไรได้พอสมควร แต่ไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป ตลาดไม่ได้หวือหวาเท่าครึ่งปีแรก แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว แต่การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจะไม่เร็วเท่า จะซึมๆ ในช่วงแรก จึงเกิดคำถามว่าตลาดหุ้นไทยแพงไปรึยัง ยังน่าลงทุนอยู่ไหม การไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศจึงกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจขึ้นมาก”
นายเกษม กล่าว
นายเกษม กล่าวอีกว่า เดิมทีตลาดหุ้นในอาเซียนเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน แต่มาปีนี้ความน่าสนใจตลาดหุ้นแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และแตกต่างกันราย sector สำหรับ sector ที่ outperform ได้แก่ หุ้นกลุ่มไฮเทค และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้อานิสงส์จากวิถีชีวิตใหม่หลังโควิด ส่งผลให้ตลาดหุ้นที่มีหุ้น 2 กลุ่มนี้จดทะเบียนจำนวนมากจะ perform ได้ค่อนข้างดีกว่า เช่น ตลาดหุ้นเกาหลี ไต้หวัน ตลาดมองว่าจะยังมีโอกาสวิ่งต่อไปได้อีก เพราะคนต้องปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ หรือตลาดหุ้นมาเลเซียที่คึกคักและ outperform จากธุรกิจถุงมือยางทางการแพทย์ที่มูลค่าตลาดสูงกว่าไทย
สำหรับนักลงทุนที่สนใจไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ บล. ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ มีจุดแข็งด้านเครือข่ายสาขาในหลายประเทศ ทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน มีเจ้าหน้าที่สำหรับให้คำแนะนำลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะ โดยมีเครือข่ายรวมถึงศักยภาพที่เข้าถึงตลาดหุ้น 8 แห่ง ใน 5 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง จีน เสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้ นิวยอร์ก และอาก้า โดยเน้นให้บริการลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก มีแอปพลิเคชัน iTrade ช่วยจัดการบัญชีหุ้น เปิดบัญชีเดียว สามารถลงทุนได้หลายสกุลเงิน โดยมีทางเลือกทั้งการซื้อขายที่ทำได้ด้วยตัวเองผ่านออนไลน์ หรือจะลงทุนผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดก็ได้ โดยบล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) มีสาขา 16 แห่งที่พร้อมให้บริการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 63)
Tags: CGS-CIMB, SET, ตลาดหุ้นไทย, เกษม พันธ์รัตนมาลา, เศรษฐกิจไทย